ที่ สสส.013/2563
วันที่ 15 เมษายน 2563
เรื่อง ขอให้พิจารณาปล่อยตัวผู้ต้องขังโดยเร็วและให้ความมั่นใจว่าทุกคนที่อยู่ในสถานที่คุมขังมีสุขภาพและปลอดภัยดี โดยเฉพาะจากไวรัสโคโรนา 2019
เรียน อธิบดีกรมราชทัณฑ์พันตำรวจเอก ณรัชต์ เศวตนันทน์
องค์กรสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยและองค์การระหว่างประเทศดังมีชื่อข้างท้ายนี้ เป็นห่วงอย่างยิ่งต่อการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ COVID-19 ที่อาจจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงในหมู่ผู้ต้องขังในเรือนจำและเจ้าหน้าที่ในเรือนจำของประเทศไทย
การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เป็นโอกาสให้ประเทศไทยต้องพิจารณาโดยเร็วต่อปัญหาความแออัดในสถานที่คุมขังที่มีการพูดถึงกันมานาน สถานที่คุมขังดังกล่าวนี้รวมถึงเรือนจำและสถานที่กักตัวของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองด้วย
จากการที่ประชากรในเรือนจำทั้งหมดของไทยมีจำนวนผู้ต้องขังเกินกว่ามาตรฐานที่จะรองรับได้ถึงกว่าร้อยละ 300 การใช้มาตรการรักษาระยะห่างระหว่างบุคคล (Physical Distancing) และมาตรการป้องกันอื่นๆ ที่มุ่งคุ้มครองสุขภาพและความปลอดภัยของผู้ต้องขังทุกคน โดยเฉพาะจากการแพร่และติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้สำหรับผู้ต้องขังไทยที่มีจำนวนถึง 377,769 คน (ชาย 329,585 คน และหญิง 48,184 คน) ในปัจจุบัน
เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2563 มิเชลล์ บาเชเลต์ ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติ ได้เรียกร้องให้รัฐบาลประเทศต่างๆ “ปฏิบัติการโดยเร็ว” เพื่อลดจำนวนคนที่ถูกคุมขัง และใช้ “มาตรการเร่งด่วน” เพื่อคุ้มครองสุขภาพและความปลอดภัยของคนที่ไร้เสรีภาพอยู่ในขณะนี้
ประเทศในเอเชียหลายประเทศ ได้แก่ อัฟกานิสถาน อินเดีย อินโดนีเซีย อิหร่าน และศรีลังกา ได้ปล่อยตัวนักโทษออกมาแล้วจากสถานที่คุมขังที่แออัดหนาแน่นเกินไปเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
ดังนั้น เราจึงขอเรียกร้องให้ท่านได้ใช้มาตรการที่จำเป็นในทุกๆทางเพื่อปล่อยตัวผู้ต้องขังที่มีอยู่จำนวนมากเหล่านั้น เพื่อลดความแออัดของเรือนจำและลดความเสี่ยงที่จะมีการแพร่กระจายและติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในเรือนจำ โดยควรพิจารณาปล่อยตัวกลุ่มผู้ต้องขังดังต่อไปนี้ ซึ่งถูกต้องขังด้วยลหุโทษและ/หรือโทษที่ไม่รุนแรง เป็นอันดับแรกๆ คือ
ผู้ที่ได้รับการปล่อยตัวจากสถานที่คุมขังควรผ่านการตรวจคัดกรองทางการแพทย์อย่างเพียงพอ ให้แน่ใจว่าพวกเขาได้รับการดูแลและการติดตามที่เหมาะสมตามที่จำเป็น และพวกเขาอาจยังต้องปฏิบัติตามมาตรการ ข้อกำหนดและเงื่อนไขที่เหมาะสมสำหรับการปล่อยตัว ที่สอดคล้องกับข้อกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำสำหรับมาตรการที่ใช้สำหรับผู้ต้องหา จำเลย หรือนักโทษ ที่ไม่ต้องถูกควบคุมตัว (Standard Minimum Rules for Non-custodial Measures) หรือ ข้อกำหนดโตเกียว (Tokyo Rules)
เรายินดีและเห็นด้วยกับมาตรการที่กรมราชทัณฑ์นำมาใช้เมื่อเร็วๆนี้ ที่ให้มีห้องแยกตัวภายในเรือนจำบางแห่งเพื่อคัดกรองผู้ต้องขังที่รับเข้ามาใหม่ อย่างไรก็ตาม เราเห็นว่ากรมราชทัณฑ์ยังต้องดำเนินการอีกมากเพื่อให้แน่ใจว่า ผู้ต้องขังมิได้ถูกลิดรอนสิทธิที่พึงได้รับในเรื่องของสุขอนามัย ซึ่งรวมไปถึงการป้องกัน บำบัดรักษา และการควบคุมโรคที่แพร่ระบาด สิทธินี้ต้องได้รับประกัน “โดยไม่มีการเลือกปฏิบัติใดๆ” ดังระบุไว้ในมาตรา 2 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (ICESCR) ซึ่งประเทศไทยเป็นรัฐภาคีด้วย
สำหรับผู้ที่ยังคงถูกคุมขังต่อไป กรมราชทัณฑ์ต้องแน่ใจว่าสภาพของเรือนจำเป็นไปตามมาตรฐานสากล เช่น ข้อกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำสำหรับการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง (Standard Minimum Rules for the treatment of Prisoners) หรือ ข้อกำหนดแมนเดลา (Nelson Mandela Rules) และกฎสำหรับการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิง และมาตรการที่ไม่ใช่การควบคุมตัวสำหรับผู้กระทำผิดที่เป็นหญิง (Rules for The Treatment of Women Prisoners) หรือ ข้อกำหนดกรุงเทพ (Bangkok Rules) ในกรณีที่มีการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 นี้ ควรเน้นเป็นพิเศษไปที่มาตรการที่เกี่ยวข้องกับที่พักอาศัย สุขาภิบาลส่วนตัวของแต่ละคน และการดูแลสุขภาพ รวมทั้งการดูแลสุขภาพที่เป็นการเฉพาะตามเพศภาวะด้วย
ผู้ต้องขังและเจ้าหน้าที่เรือนจำที่มีอาการควรได้รับการตรวจโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และถ้าผลออกมาเป็นบวก ควรได้รับการบำบัดรักษาอย่างเพียงพอที่โรงพยาบาลที่มีเครื่องมือรองรับผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 อุปกรณ์ป้องกัน เช่น หน้ากาก น้ำสะอาด สบู่ และสิ่งจำเป็นทั้งหลาย ในการรักษาสุขภาพ สุขอนามัย และความสะอาดส่วนตัวของแต่ละคน ควรจะจัดมีให้ทุกคน
ประการสุดท้าย การตัดสินใจของกรมราชทัณฑ์ที่ให้งดการเยี่ยมผู้ต้องขังในเรือนจำทั้งหมดไว้เป็นการชั่วคราวนั้น เราเรียกร้องหน่วยงานทางการที่เกี่ยวข้องให้รับรองว่า ผู้ต้องขังยังคงสามารถสื่อสารกับโลกภายนอกได้ โดยต้องถือเป็นความสำคัญลำดับต้นๆ ที่กรมราชทัณฑ์ควรมีมาตรการที่เป็นทางเลือกอื่นๆ แทนการเยี่ยม โดยผ่านการสื่อสารโทรคมนาคมและทางอิเล็กทรอนิกส์ระหว่างผู้ต้องขังกับสมาชิกครอบครัวได้ด้วย เช่น video call โทรศัพท์ และอีเมล เป็นต้น
จึงขอเรียกร้องท่านได้โปรดพิจารณาอย่างจริงจังต่อข้อเสนอแนะข้างต้นนี้และนำไปปฏิบัติอย่างเร่งด่วนพวกเราขอขอบคุณที่ท่านให้ความสนใจต่อเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่งนี้
ขอแสดงความนับถือ
นายนิกร วีสเพ็ญ
ประธานกรรมการ สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน(สสส.)
รายชื่อองค์กรสิทธิมนุษยชน
สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) Union for Civil Liberty (UCL.)