เมื่อถูกตำรวจจับจะมั่นใจได้อย่างไรว่า คดีของเราจะได้รับความเป็นธรรม?

ทำอย่างไรให้ตำรวจจับคนร้ายไม่ผิดคน เมื่อถูกตำรวจจับจะมั่นใจได้อย่างไรว่า คดีของเราจะได้รับความเป็นธรรม? เมื่อถูกตำรวจจับกุมไม่ว่าเรื่องใดก็ตาม การจะดำเนินคดีต้องผ่านขั้นตอนที่ตำรวจ  “แจ้งข้อหา” เพื่อให้เรารู้ว่า จะถูกดำเนินคดีข้อหาอะไร “สอบปากคำผู้ต้องหา” เพื่อให้เรามีโอกาสให้ข้อเท็จจริงจากฝั่งของเรา “สอบปากคำพยาน” เพื่อหาพยานหลักฐานเพิ่มเติมว่า เราทำผิดจริงหรือไม่ “สรุปสำนวน” เพื่อตัดสินใจว่า จะส่งฟ้องหรือไม่ งานนั่งโต๊ะของตำรวจเหล่านี้ เรียกรวมว่า “งานสอบสวน” ซึ่งเป็นขั้นตอนการทำงานสำหรับทุกคดีเพื่อหาคำตอบว่า ใครคือคนร้ายตัวจริง ใช่คนที่ถูกจับมาไหมนะ? ในประเทศที่กระบวนการยุติธรรมพัฒนาแล้ว การแจ้งข้อหาหรือดําเนินคดีกับใคร จะต้องปรากฏพยานหลักฐานชัดเจนว่า คนนั้นเป็นผู้กระทําความผิด และมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะทำให้ศาลพิพากษาลงโทษได้ งานสอบสวนที่ควรจะเป็น คือ ตำรวจต้องแสวงหาพยานหลักฐานทุกชนิดเพื่อ “ค้นหาความจริง” สำหรับพิสูจน์ทั้งความผิดและความบริสุทธิ์ของผู้ต้องหา แต่ในทางปฏิบัติ ตำรวจที่ทำหน้าที่สอบสวนยังมุ่งรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อเอาผิดแก่ผู้ถูกกล่าวหาในทำนอง “เค้นหาความจริง” มากกว่าการ “ค้นหาความจริง” ทำให้ “คนบริสุทธิ์” ตกเป็นผู้ต้องหา และถูกส่งฟ้องต่อศาลมากมาย บ่อยครั้งนําไปสู่การละเมิดสิทธิของประชาชน ทำให้ผู้ถูกกล่าวหา หรือผู้ต้องหาไม่ได้รับความเป็นธรรม และทำให้ภาพของตำรวจและกระบวนการยุติธรรมกลายเป็นเรื่องน่ากังวลสำหรับประชาชนทั่วไป ตัวอย่างคดีที่ตำรวจจับกุมคนร้ายผิดตัว อัยการสั่งฟ้องผิดคน เช่น คดีนายวุฒิชัย ใจสมัคร หรือ ปุ๊ วอร์มอัพ ถูกกล่าวหาว่าฆาตกรรมแฟนสาวที่จังหวัดเชียงใหม่ ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาจำคุกตลอดชีวิต แต่กระทรวงยุติธรรมพบหลักฐานใหม่ คือ DNAในซอกเล็บของผู้ตาย ไม่ตรงกับ DNA ของจำเลย  และมีพยานยืนยันว่าคนร้ายที่น่าจะเป็นผู้ก่อเหตุ พาผู้เสียชีวิตไปทานข้าวต้มในคืนเกิดเหตุ ไม่ใช่ร้านเดียวกับที่ปรากฏในสำนวนคดี พยานหลักฐานใหม่นี้ถูกส่งให้ศาลฎีกาพิจารณา นำมาสู่คำพิพากษายกฟ้อง นายวุฒิชัยจึงได้รับการปล่อยตัว หลังถูกจำคุกไปแล้ว 3 ปี 6 เดือน นอกจากนี้ ตามสถิติของสำนักงานช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้เสียหายและจำเลยในคดีอาญา ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2545-2563 รัฐบาลยังต้องใช้จ่ายงบประมาณมากกว่า 521,239,772 บาท (ห้าร้อยยี่สิบเอ็ดล้านบาท) หรือเฉลี่ยปีละ 27 ล้าน เพื่อเป็นค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยคดีอาญา จำนวน 2,396 คน ซึ่งถูกฟ้องและถูกคุมขังโดยไม่ได้เป็นผู้กระทำผิด หนึ่งในสาเหตุของเรื่องนี้ เพราะระบบของประเทศไทยเอา “งานสอบสวน” ทั้งหมดฝากไว้ในมือของตำรวจ และเอา “งานฟ้องคดี” ทั้งหมดมอบให้อัยการ ชนิดแยกขาดจากกัน อัยการซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมาย ไม่มีโอกาสเข้าไปตรวจสอบในกระบวนการแสวงหาข้อเท็จจริงและค้นหาพยานหลักฐานตั้งแต่ต้น กว่าจะรู้เรื่องคดีก็ต่อเมื่อตำรวจส่งสำนวนมาให้อัยการฟ้องคดีต่อศาลเท่านั้น หลายกรณีอัยการไม่มีโอกาสที่จะตรวจสอบให้แน่ชัดว่า มีหลักฐานเพียงพอจะพิสูจน์ความผิดได้หรือไม่ บางครั้งก็ต้องยื่นฟ้องผู้บริสุทธิ์ไป และศาลก็ยกฟ้องในภายหลัง หรือบางครั้งก็ยื่นฟ้องไปโดยมีหลักฐานไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ แม้ว่า ผู้ถูกฟ้องจะกระทำความผิดจริงแต่ศาลก็สั่งลงโทษไม่ได้ สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน ร่วมกับเครือข่ายองค์กรสิทธิมนุษยชน ทนายความ นักวิชาการ และเครือข่ายประชาชนผู้ถุกละเมิดสิทธิมนุษยชน เห็นว่าการคุ้มครองและปกป้องการละเมิดสิทธิมนุษยชนนั้น ประเทศไทยต้องมีกระบวนการยุติธรรมที่มีหลักนิติธรรม โปร่งใส ตรวจสอบได้ และการพิจารณาการดำเนินคดีที่รวดเร็ว  เพราะความล่าช้าของการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐคือความไม่เป็นธรรม จึงมีข้อเสนอปฏิรูปการสอบสวนทางอาญา 9 ข้อ ได้แก่
  1. ให้หลายหน่วยงานเข้าถึงพยานหลักฐานได้ทันทีที่ทราบเหตุ และสามารถเริ่มต้นดําเนินคดีไปจนถึงการส่งสํานวนให้อัยการได้โดยตรง เพื่อคานอํานาจ สร้างระบบตรวจสอบถ่วงดุล ป้องกันการบิดเบือนและทําลายพยานหลักฐาน
  1. ปรับโครงสร้างการสอบสวนและการฟ้องร้องคดีให้เป็นกระบวนการเดียวกัน โดยให้ อัยการทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของพนักงานสอบสวน  โดยสามารถเข้าถึงข้อมูลของพยานหลักฐานตั้งแต่แรก และเป็นผู้สอบปากคําผู้ต้องหาก่อนจะสั่งฟ้องคดี
  1. จัดโครงสร้างงานสอบสวนในลักษณะสหวิชาชีพ มีฝ่ายสืบสวน ฝ่ายสอบสวน และเจ้าหน้าที่ผู้ชํานาญเฉพาะด้าน ได้แก่ ฝ่ายพิสูจน์หลักฐาน ฝ่ายนิติวิทยาศาสตร์ และนิติเวชศาสตร์ รวมทั้งมีพนักงานสอบสวนหญิงมาทำงานร่วมกัน
  1. สร้างสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ที่บริหารงานอย่างเป็นอิสระจากพนักงานสอบสวนและอัยการ สามารถทำงานควบคู่กับพนักงานสอบสวนได้ตั้งแต่ต้นทาง
  1. ยกเลิกการทํางานแยกส่วนระหว่างหน่วยงานฝ่ายปกครองและตํารวจ
  1. ยกเลิกการนำผู้ถูกกล่าวหาหรือผู้ต้องหามาทําแผนการสอบสวนต่อหน้าสาธารณชน
  1. ในการควบคุมตัว การจับหรือค้น ให้เจ้าพนักงานแจ้งสิทธิของผู้ถูกกล่าวหา หรือผู้ต้องหา และแจ้งให้ญาติทราบ  หากมีการปล่อยตัวต้องให้ญาติหรือพยานบุคคลที่ผู้ต้องหาไว้วางใจลงนามรับรอง
  1. ให้เจ้าพนักงานจัดให้มีการบันทึกภาพและเสียงการซักถามผู้เสีย หาย ผู้ถูกกล่าวหา ผู้ต้องหาตั้งแต่การจับกุม และการสอบสวนผู้ต้องหา
  1. ประชาชนต้องเข้าถึงทนายความที่มีความรับผิดชอบ และมีความรู้ความสามารถ เพื่อขอคำปรึกษา หรือขอความช่วยเหลือทางกฎหมาย ไม่ให้เกิดการบิดเบือน หน่วงเหนี่ยว หรือแทรกแซงคดี
การปฏิรูปการสอบสวนทางอาญานี้ก็เพื่อความเป็นธรรม และทำให้ภาษีของเราไม่จมไปกับความผิดพลาดในกระบวนการยุติธรรม หากสนใจข้อมูลความรู้เกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามระบอบประชาธิปไตย ติดตามสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้ทาง http://ucl.or.th/ เฟซบุ๊ก สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน สสส (https://www.facebook.com/uclthailand) หรือทาง Email: uclthailand@gmail.com