สสส. ร่วมกับองค์กรสิทธิมนุษยชนทั่วโลกแสดงความไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญรัสเซียของประธานาธิบดีปูติน

เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2563 ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีปูตินได้เสนอร่างกฎหมายให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัสเซีย ซึ่งหากเกิดขึ้นจริง จะมีผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญที่มีผลกระทบอย่างกว้างไกลต่อสิทธิมนุษยชน ทั้งในรัสเซียเองและอาจจะแพร่ไปทั่วโลก  หนึ่งในนั้นคือข้อเสนอให้รัสเซียสามารถเลือกปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายระหว่างประเทศที่รัสเซียให้สัตยาบันไปแล้ว เช่น อนุสัญญายุโรปว่าด้วยสิทธิมนุษยชน โดยอ้างว่าไม่สามารถปฏิบัติตามได้ เนื่องจากขัดกับผลประโยชน์หรือเพื่อปกป้องอธิปไตยของรัสเซีย   อลิซ ม็อกเว ประธาน FIDH ชี้ว่า การทำให้รัสเซียสามารถเลือกไม่ทำตามกฎหมายระหว่างประเทศที่รัสเซียให้สัตยาบันเป็นรัฐภาคีไปแล้วได้ จะบั่นทอนลดคุณค่าของกฎหมายระหว่างประเทศนั้นลง

สิ่งที่เกิดขึ้นคือ เมื่อวันที่ 15 มกราคม ประธานาธิบดีปูตินได้ประกาศในการกล่าวคำแถลงประจำปีว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ และได้มอบให้คณะทำงานเฉพาะกิจชุดหนึ่งไปดำเนินการในทันที คณะทำงานนี้ร่างกฎหมายแก้ไขรัฐธรรมนูญออกมาโดยไม่มีการปรึกษาหารือรับฟังความเห็นอย่างจริงจังกับภาคประชาสังคมแต่อย่างใด โดยให้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญต่อบทบัญญัติใน 14 มาตราของรัฐธรรมนูญ ซึ่งกฎหมายของสหพันธรัฐรัสเซียระบุว่าจะต้องมีร่างกฎหมายแยกเฉพาะสำหรับการแก้ไขแต่ละมาตรา ไม่ใช่รวบยอดทำด้วยกฎหมายฉบับเดียว  และเมื่อนายปูตินยื่นข้อเสนอเข้าไปในสภาล่างของรัฐสภารัสเซีย สภาล่างนี้ก็ใช้เวลาเพียงสี่วันพิจารณาและผ่านมติรับรองอย่างเป็นเอกฉันท์ในวาระที่ 1 โดยมีกำหนดจะพิจารณาในวาระที่ 2 ในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ และในวาระที่ 3 ปลายเดือนกุมภาพันธ์ก่อนลงมติ  เนื่องจากข้อเสนอนี้เกี่ยวข้องกับสองบทแรกในรัฐธรรมนูญที่ว่าด้วย “หลักการพื้นฐานของระบบรัฐธรรมนูญ” และ “สิทธิและเสรีภาพของมนุษย์และพลเมือง” มาตรา 135 ของรัฐธรรมนูญปัจจุบันกำหนดว่า เนื้อหาใหม่หรือฉบับใหม่ของรัฐธรรมนูญต้องผ่านความเห็นชอบของสภาร่างรัฐธรรมนูญและประชามติ  แต่ไม่มีการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาหรือมีสภานี้ดำรงอยู่แล้วแต่อย่างใด ทางการรัสเซียเท่าแต่วางแผนว่าจะจัดให้มีการลงคะแนนเสียงทั่วประเทศรับรองรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขนี้ในช่วงฤดูใบไม้ผลิที่กำลังจะมาถึง คือช่วงเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม เพื่อพยายามสร้างความชอบธรรมให้กับรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไข

สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) กับองค์กรสิทธิมนุษยชนทั่วโลก ที่เป็นสมาชิกของสหพันธ์สากลเพื่อสิทธิมนุษยชน (FIDH) เห็นตรงกันว่า การแก้ไขที่เสนอขึ้นมานี้ขัดแย้งจิตวิญญาณ-เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่มีอยู่เดิม บั่นทอนสิทธิขั้นพื้นฐานของพลเมืองรัสเซียด้วยข้ออ้างต่างๆ ของรัฐ และเป็นความพยายามที่จะรวบอำนาจไว้ในมือของกลุ่มผู้ปกครองประเทศในปัจจุบันที่มีนายปูตินเป็นหัวโจก   สสส. และองค์กรสิทธิมนุษยชนทั้งหลาย เกรงว่า ถ้ารัฐสภารัสเซียเห็นชอบกับข้อเสนอนี้ ไม่เพียงแต่สิทธิมนุษยชนในรัสเซียจะเข้าสู่ยุคมืดเป็นสถานการณ์ที่เลวร้ายยิ่งยวดเท่านั้น หากยังอาจเป็นการสร้างแบบอย่างที่เป็นอันตรายอย่างยิ่งไปทั่วโลกที่ผู้ปกครองหลายประเทศอาจนำไปทำตาม ไม่ปฏิบัติตามพันธะสัญญาที่ให้ไว้กับประชาคมสากลด้วย  สสส. กับองค์กรสิทธิมนุษยชนทั่วโลกจึงเรียกร้องให้ทางการรัสเซียถอดถอนข้อเสนอนี้เสียในทันที และเรียกร้องให้ประชาชนชาวรัสเซียปฏิเสธข้อเสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้อย่างสิ้นเชิง

 

สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน

7 กุมภาพันธ์ 2563