คำแถลงของสำนักงานอัยการ ศาลอาญาระหว่างประเทศ

                                               เรื่องการสอบสวนกรณีโรฮินยา ในบังคลาเทศ 4 ก.พ. 2563                                                 

สสส. เป็นสมาชิกของพันธมิตรเพื่อศาลอาญาระหว่างประเทศ (Coalition for the International Criminal Court – CICC)  ซึ่งเป็นเครือข่ายขององค์กรสิทธิมนุษยชนทั่วโลกที่สนับสนุนการทำงานของศาลอาญาระหว่างประเทศ (International Criminal Court – ICC) ที่ก่อตั้งขึ้นและดำเนินงานเพื่อนำผู้ก่ออาชญากรรมร้ายแรงต่อมนุษยชาติที่รอดพ้นจากการลงโทษในประเทศของตนเองมาลงโทษในทางสากลตามกฎหมายระหว่างประเทศที่ชื่อว่า Rome Statute ซึ่งรัฐบาลไทยร่วมลงนาม แต่ยังมิได้เป็นรัฐภาคี 

 เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2563 สำนักงานอัยการของ ICC ได้จัดแถลงข่าวที่กรุงทากา นครหลวงของบังคลาเทศ ถึงการสอบสวนกรณีโรฮิงยาที่เป็นข่าวใหญ่โตไปทั่วโลก เนื่องจากมีผู้ใส่ใจในสิทธิมนุษยชนและรักความเป็นธรรมในไทยจำนวนมากที่สนใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับชาวโรฮิงยาในเมียนมาร์ สสส. จึงขอเก็บใจความเนื้อหาหลักของคำแถลงนี้มาเสนอให้ทราบทั่วกันถึงความคืบหน้าด้วย

เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2562 คณะผู้พิพากษาของ ICC ได้อนุมัติคำขอของอัยการฟาตู เบนซูดา ให้มีการสอบสวนอย่างเต็มรูปแบบต่อกรณีการกล่าวหาว่ามีการก่ออาชญากรรมโหดร้ายต่อชาวโรฮิงยาภายใต้อำนาจของศาลแห่งนี้  การอนุมัติให้อำนาจแก่อัยการดังกล่าวเป็นพัฒนาการสำคัญในการดำเนินการให้เกิดความยุติธรรมและการทำความจริงให้ปรากฏ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแก่ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของอาชญากรรมนี้  ขั้นตอนต่อไปคือพนักงานสอบสวนจากสำนักงานอัยการจะพยายามอย่างระมัดระวังและถี่ถ้วนในการเปิดเผยความจริงเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับชาวโรฮิงยาในเมียนมาร์ซึ่งทำให้พวกเขาเดินทางมาบังคลาเทศ  การสอบสวนจะเป็นไปอย่างเฉพาะเจาะจง เนื่องจากเมียนมาร์มิได้เป็นรัฐภาคีของศาลนี้ แต่บังคลาเทศเป็น  คณะผู้พิพากษาได้ให้อำนาจการสอบสวนโดยมีขอบเขตกว้างๆ ว่า อัยการอาจสอบสวนอาชญากรรมใดๆ ที่อยู่ในอำนาจของศาลนี้และได้กระทำไปอย่างน้อยส่วนหนึ่งในดินแดนของบังคลาเทศ หรือรัฐภาคีอื่น หรือรัฐใดๆ ที่ยอมรับอำนาจของศาลนี้อย่างเป็นทางการ ตราบใดที่อาชญากรรมนั้นเชื่อมโยงเพียงพอกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าผู้ก่ออาชญากรรมจะมีสัญชาติใดก็ตาม  ในบริบทนี้ การสอบสวนอาจครอบคลุมอาชญากรรมที่มีการกล่าวหาว่าก่อขึ้นนับแต่เดือนมิถุนายน 2553 ที่บังคลาเทศเข้าร่วมกับ ICC และอาชญากรรมใดที่เกิดขึ้นในอนาคต ตราบใดที่มีความเชื่อมโยงเพียงพอกับสถานการณ์ดังกล่าว  ในการประเมินว่า ICC ควรอนุมัติให้มีการสอบสวนหรือไม่นั้น ผู้พิพากษาในการไต่สวนก่อนการดำเนินคดีได้ยอมรับว่ามีพื้นฐานเป็นเหตุเป็นผลที่จะเชื่อว่า

  • นับตั้งแต่อย่างน้อยเดือนตุลาคม 2559 อาจมีการใช้ความรุนแรงอย่างกว้างขวาง และ/หรือเป็นระบบ ต่อชาวโรฮิงยา
  • การกระทำที่เป็นการบังคับขู่เข็ญเหล่านี้อาจเข้าข่ายเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติในการเนรเทศและการประหัตประหารบนพื้นฐานของชาติพันธุ์ และ/หรือศาสนา
  • อาจมีนโยบายของรัฐให้โจมตีประชากรชาวโรฮิงยา
  • สมาชิกของกองทัพเมียนมาร์ ร่วมกับกองกำลังความมั่นคงเมียนมาร์ และพลเมืองในท้องถิ่นจำนวนหนึ่งที่มีส่วนร่วม อาจเป็นผู้ก่ออาชญากรรมนี้

อัยการจะทบทวนด้วยถึงข้อกล่าวหาที่ว่า มีการใช้ความรุนแรงในเมียนมาร์ที่กระทำโดยกลุ่มติดอาวุธกองทัพปลดปล่อยโรฮิงยาอรากัน (Arakan Rohingya Salvation Army) รวมถึงคำถามที่ว่าการกระทำดังกล่าวอาจเป็นอาชญากรรมภายใต้ Rome Statute และเป็นไปตามข้อกำหนดในเรื่องอำนาจศาลเหนือดินแดนหรือไม่

องค์ประกอบที่เป็นพื้นฐานที่สัมบูรณ์แน่นอนประการหนึ่งของการสอบสวนใดๆ ของ ICC คือการเป็นความลับ  หากไม่เป็นความลับ สำนักงานอัยการจะไม่สามารถทำงานได้อย่างเหมาะสม  คณะของสำนักงานอัยการที่มาบังคลาเทศในครั้งนี้ยังไม่ได้มาทำการสอบสวน หากแต่มาให้ข้อมูลกับชาวโรฮิงยา ชุมชนเจ้าบ้าน และสาธารณชนในวงกว้าง  นี่เป็นแนวปฏิบัติของพัฒนาการหลักทั้งมวลในสถานการณ์ที่ ICC เข้าไปดำเนินการ  อย่างไรก็ตามจะไม่มีการเปิดเผยต่อสาธารณชนถึงวิธีการที่ใช้และความก้าวหน้าที่เกิดขึ้นตลอดกระบวนการสอบสวนซึ่งขณะนี้ได้เริ่มดำเนินการไปแล้ว จนกว่าจะถึงเวลาที่เหมาะสม  นอกจากนั้นสำนักงานอัยการจะไม่แสดงความเห็นใดๆ ต่อข่าวลือที่เกี่ยวกับการสอบสวน และขอให้สื่อมวลชนอย่าได้กะเก็งและใส่ข่าวลือต่างๆ ในการรายงานข่าวเรื่องนี้  การเป็นความลับสำคัญยิ่งไม่เพียงต่อความซื่อตรงและความสมบูรณ์ของการสอบสวน แต่ต่อความมั่นคงปลอดภัยของทุกคนที่เกี่ยวข้องด้วย รวมทั้งเหยื่อและพยาน  การสอบสวนของ ICC เป็นอิสระ ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด และกระทำอย่างเป็นภาวะวิสัย โดยการปฏิบัติตามกฎหมายที่นำมาใช้และมาตรฐานในด้านพยานหลักฐานอย่างเข้มงวดกวดขัน  การสอบสวนต้องใช้เวลาในการเปิดเผยข้อเท็จจริงว่าสิ่งใดเกิดขึ้น  สิ่งสำคัญที่คาดว่าจะเกิดขึ้นคือความยุติธรรม แต่ความยุติธรรมไม่อาจทำอะไรทุกอย่างให้ชาวโรฮิงยาได้ ไม่สามารถนำผู้เป็นที่รักที่สูญเสียไปจากความรุนแรงกลับคืนมา ไม่มีผลโดยตรงต่อชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเขาในค่ายหรือต่อสถานการณ์ที่พวกเขาเผชิญอยู่ในปัจจุบัน  สิ่งที่อัยการของ ICC สามารถทำได้จากการสอบสวนครั้งนี้คือการรวบรวมหลักฐานและนำเสนอสิ่งที่เกิดขึ้นให้กับคณะผู้พิพากษาของศาลที่กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ โดยมุ่งหมายเพื่อทำให้แน่ใจว่าเรื่องเป็นที่รู้กันทั่วไป ไม่ถูกลืมเลือนไป  และหลังจากมีการสอบสวนอย่างระมัดระวังแล้ว คนที่หลักฐานแสดงให้เห็นว่าต้องรับผิดชอบมากที่สุดต่ออาชญากรรมที่เกิดขึ้น เผชิญกับความยุติธรรม

อัยการเบนซูดาและสำนักงานอัยการของ ICC ขอแสดงความขอบคุณอย่างจริงใจต่อทางการของบังคลาเทศที่ให้การสนับสนุนอย่างสำคัญ ได้พบกับผู้มีส่วนได้เสียสำคัญๆ ในหน่วยงานกรมกองต่างๆ และได้รับปฏิกิริยาทางบวกจากองค์กรประชาสังคม องค์กรระหว่างประเทศ และประชาคมทางการทูตในบังคลาเทศ โดยคาดหวังว่าจะได้รับการสนับสนุนและความร่วมมือต่อไปในขณะที่ดำเนินการสอบสวนอย่างเป็นอิสระนี้

(หมายเหตุ: สำนักงานอัยการของ ICC ดำเนินการศึกษาเบื้องต้น การสอบสวน และการฟ้องร้องอย่างเป็นอิสระและไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดต่อการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ อาชญากรรมสงคราม และอาชญากรรมความก้าวร้าว  นับแต่ปี 2546 เป็นต้นมา สำนักงานแห่งนี้ได้ทำการสอบสวนภายในขอบเขตอำนาจของ ICC ต่อสถานการณ์ในอูกันดา สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก ดาร์ฟู ซูดาน สาธารณรัฐอาฟริกากลาง(สองเหตุการณ์แยกจากกัน) เคนยา ลิเบีย โคเตอดาวัว มาลี จอร์เจีย และบุรุนดี  และได้ทำการศึกษาพิจารณาเบื้องต้นเกี่ยวกับสถานการณ์ในโคลอมเบีย กีนี อิรัค/สหราชอาณาจักร ฟิลิปปินส์ ไนจีเรีย ยูเครน และเวเนซูเอลา  รายละเอียดเพิ่มเติมสอบถามได้จากสำนักงานอัยการ ICC ที่ OTPNewsDesk@icc-cpi.int)