คณะทำงาน สสส. นำโดยประธาน (นายนิกร วีสเพ็ญ) ได้เข้าร่วมประชุมร่วมกับคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน เพื่อยื่นข้อเสนอการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทางอาญาฯ

เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2562 เวลา 09.30 น.

คณะทำงาน สสส. นำโดยประธาน (นายนิกร วีสเพ็ญ) ได้เข้าร่วมประชุมร่วมกับคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน เพื่อยื่นข้อเสนอการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทางอาญาฯ 3 ประเด็นหลัก โดยสามารถสรุปสาระสำคัญได้ดังนี้

        1) ข้อเสนอต่อการแก้ไขปรับปรุงประมวลกฎหมาย วิธีพิจารณาความอาญา (การจับกุม ควบคุมตัว ขัง ปล่อยชั่วคราว สอบสวน ชันสูตรพลิกศพ และไต่สวนมูลฟ้อง)

ความสำคัญของปัญหา

  • การละเมิดสิทธิมนุษยชน
  • การเค้นหาความจริง มุ่งรวบรวบ พยานหลักฐาน เพื่อเอาผิดกับผู้ถูกกล่าวหาแยกการสอบสวนและการฟ้องร้องคดีออกจากกันเด็ดขาด
  • เจ้าหน้าที่ด้านนิติวิทยาศาสตร์มีฐานะเป็นผู้ช่วยของพนักงานสอบสวน ทำให้การรวบรวมพยานหลักฐานด้านนิติวิทยาศาสตร์ไม่มีประสิทธิภาพและถูกบิดเบือนได้
  • ยังมีข้อจำกัดในการค้นความหาความจริงเกี่ยวกับการตายได้อย่างแท้จริง
  • ในคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ กฎหมายกำหนดให้เป็นดุลพินิจของศาลที่จะทำการไต่สวนมูลฟ้องหรือไม่ก็ได้ ทำให้การสอบสวนมาแทนที่การไต่สวนมูลฟ้อง

หลักการและแนวคิดในการปฏิรูป

  • หลักการดำเนินคดีอาญาโดยรัฐ การสอบสวน และการฟ้องร้องคดีถือว่าเป็นกระบวนการเดียวกันแบ่งแยกไม่ได้
  • หลักการค้นหาความจริงในเนื้อหา องค์กรในกระบวนการยุติธรรม เป็นหน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบในกระบวนการยุติธรรมชั้นต้น และมีหน้าที่อำนวยความยุติธรรม
  • หลักฟังความทุกฝ่าย จำเลยหรือผู้ถูกกล่าวหามีฐานะเป็นประธานในคดี
  • หลักการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม (Rights to Fair trial) กำหนดไว้ในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR)

ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ

          การแจ้งสิทธิ : 1) กำหนดคำนิยาม “ควบคุม” ใหม่ 2) เจ้าพนักงานซึ่งควบคุมตัวบุคคลมีหน้าที่แจ้งให้ญาติหรือบุคคลที่ผู้ถูกควบคุมทราบถึงการควบคุมตัว และ 3) ต้องมีการบันทึกภาพเคลื่อนไหวหรือเสียงในขณะแจ้ง

            การเอาตัวบุคคลไว้ในอำนาจรัฐ : 1) การออกหมายอาญา  พนักงานอัยการเป็นผู้กลั่นกรองคำร้องขอออกหมายอาญาต่อศาล 2) การออกหมายจับ แก้ไขเกณฑ์การพิจารณาการออกหมายจับ โดยไม่จำเป็นต้องใช้เกณฑ์การกำหนดอัตราโทษต่ำหรือสูง ในการออกหมายจับ  3) พนักงานเจ้าหน้าที่มีหน้าที่แจ้งข้อเท็จจริงและเหตุแห่งการจับกุม และรายงานบันทึกการจับกุม 4) การนำตัวผู้ถูกจับไปที่ศาลภายใน 24 ชั่วโมงนับแต่เวลาที่ถูกจับ 5) กำหนดเงื่อนไขการฝากขังใหม่ โดยให้ศาลสั่งขังได้ครั้งละไม่เกิน 12 วัน โดยไม่กำหนดระยะเวลาขังตามอัตราโทษ และ 6) ถ้าเป็นความผิดซึ่งหน้า จะควบคุมผู้ถูกจับไว้ได้ไม่เกิน 10 วัน

          การค้น : เพิ่มหลักประกันการคุ้มครองสิทธิในการค้นบุคคลในที่สาธารณะ และการตรวจค้นยานพาหนะให้ชัดเจนขึ้น

          การปล่อยตัวระหว่างดำเนินคดี : ให้ปล่อยตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยในระหว่างดำเนินคดีเป็นหลัก ส่วนควบคุมตัวเป็นข้อยกเว้น โดยมีเหตุ 3 ประการคือ จะหลบหนี จะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน และก่อเหตุอันตราย

          การสอบสวน : 1) เพิ่มเติมคำนิยาม “การสอบสวน” 2) พนักงานอัยการ และพนักงานเจ้าหน้าที่หน่วยงานต่างๆมีอำนาจสอบสวน 3) การสอบสวนที่มีความบกพร่อง ด้วยเหตุแห่งการบริการจัดการทางคดี ทำให้การสอบสวนเสียไป จะไม่กระทบกับอำนาจฟ้องของพนักงานอัยการ 4) ปรับโครงสร้างการสอบสวนและการฟ้องร้องคดีให้เป็นกระบวนการเดียวกัน 5) กำหนดสิทธิของผู้ต้องหาและผู้เสียหายในชั้นสอบสวน 6) เจ้าหน้าที่นิติวิทยาศาสตร์และนิติเวชศาสตร์เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา 7) การแจ้งข้อกล่าวหาเป็นหน้าที่ของพนักงานอัยการหรือได้รับความเห็นชอบจากพนักงานอัยการ 8) ห้ามนำผู้ถูกจับหรือผู้ถูกกล่าวหาไปแถลงข่าว หรือมีลักษณะเป็นการประจาน 9) ยกเลิกระบบความเห็นแย้งระหว่างหน่วยงาน และ 10) กรณีมีคำสั่งไม่ฟ้องคดี พนักงานอัยการมีหน้าที่ส่งพยานหลักฐานทั้งหมด พร้อมความเห็นของพนักงานสอบสวน และพนักงานอัยการในการสั่งคดีให้ผู้เสียหาย ผู้ต้องหา หรือผู้มีส่วนได้เสียโดยไม่ชักช้า และไม่เกินกำหนดอายุความฟ้องร้อง และต้องสืบสวนสอบสวนเกี่ยวกับความผิดนั้นต่อไปจนกว่าจะนำผู้กระทำความผิดมาลงโทษได้

          การชันสูตรพลิกศพและไต่สวนการตาย : 1) บทบาทหน้าที่ และความรับผิดของผู้พบศพ 2) ความรับผิดของพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจที่รับแจ้งให้ชัดเจน 3) สิทธิของญาติผู้ตายในกระบวนการชันสูตรพลิกศพและไต่สวนการตาย 4) เจ้าพนักงานชันสูตรพลิกศพที่ได้รับมอบหมายจากแพทย์ทางนิติเวชศาสตร์ ต้องมีคุณสมบัติและผ่านการอบรมทางด้านการชันสูตรพลิกศพหรือการตรวจศพ 5) การกระจายอำนาจและความรับผิดชอบในการทำสำนวนชันสูตรพลิกศพให้เหมาะสม สอดคล้องกับบริบทแวดล้อมของการตายที่ปรากฏ 6) ให้มีการไต่สวนเฉพาะกรณีที่มีความจำเป็นต้องไต่สวน 7) ให้องค์กรสิทธิมนุษยชนที่เป็นนิติบุคคล หรือบุคคลอื่นใดเพื่อประโยชน์ของผู้ตาย มีสิทธิแต่งตั้งทนายความดำเนินการในชั้นไต่สวนการแทนผู้ตายหรือญาติผู้ตายได้ 8) การผ่าศพเป็นดุลพินิจของแพทย์นิติเวชศาสตร์ 9) พนักงานอัยการมีดุลพินิจในการสั่งให้มีการขุดศพขึ้นตรวจ 10) กรณีการตายที่เกี่ยวข้องกับเจ้าพนักงาน ให้พนักงานอัยการเป็นผู้รับผิดชอบการทำสำนวนสอบสวน และ 11) กรอบอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัดในการดำเนินการเกี่ยวกับการชันสูตรพลิกศพ เช่น ตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง การชดเชยค่าเสียหาย เป็นต้น

          ปรับปรุงการไต่สวนมูลฟ้อง : 1) ศาลต้องไต่สวนมูลฟ้องกรณีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ในบางกรณี โดยเฉพาะกรณีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ และ 2) ห้ามองค์คณะผู้พิพากษาที่ทำการไต่สวนมูลฟ้องเป็นองค์คณะในการพิจารณาพิพากษาคดีที่ตนไต่สวนมูลฟ้อง

        2) ปรับปรุงแก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาและความแพ่ง (Anti-SLAPPs LAW)

          ความสำคัญของปัญหา

          จากการศึกษาของสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน พบว่า การฟ้องคดีปิดกั้นการมีส่วนร่วมสาธารณะในประเทศไทยนั้น มีทั้งคดีแพ่งและคดีอาญา แต่คดีอาญาจะมีจำนวนมากกว่าคดีแพ่ง ทั้งนี้เพราะกฎหมายไทยกำหนดโทษทางอาญา ที่สามารถนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการฟ้องคดีเพื่อปิดกั้นการมีส่วนร่วมสาธารณะได้ และต้นทุนการฟ้องคดีต่ำกว่าคดีแพ่ง

            หลักการและแนวคิดในการปฏิรูป

          การฟ้องคดีปิดกั้นการมีส่วนร่วมสาธารณะ หรือ (Strategic  Lawsuit Against Public Participation/SLAPPs) เป็นการคุกคามต่อสิทธิในเสรีภาพในการแสดงออก การแสดงความคิดเห็น การชุมนุมโดยสงบของบุคคลหรือกลุ่ม เพื่อปิดกั้นไม่ให้มีส่วนร่วมในการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ หรือการดำเนินการโครงการต่างๆของบริษัทเอกชน 

            ดังนั้นเพื่อส่งเสริมและปกป้องสิทธิตามรัฐธรรมนูญของบุคคลหรือกลุ่ม ที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมในประเด็นสาธารณะ และคุ้มครองสิทธิของบุคคลที่ฟ้องคดีโดยสุจริตเพื่อเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น

          การแก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

  • กำหนดนิยาม “คดีปิดกั้นการมีส่วนร่วมสาธารณะ หมายถึง การร้องทุกข์ กล่าวโทษหรือฟ้องคดีต่อบุคคล โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อข่มขู่ ก่อกวน สร้างความกดดันอย่างไม่เหมาะสม หรือยับยั้งการใช้หรือสนับสุนนการใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญหรือพันธกรณีระหว่างประเทศ ในการมีส่วนร่วมกับประเด็นสาธารณะ”
  • ให้จำเลยมีช่องทางเฉพาะในการยื่นคำร้องเพื่อให้ยกฟ้องตั้งแต่เริ่มต้นในกระบวนการดำเนินคดี
  • ในชั้นสอบสวนและฟ้องร้อง ให้พนักงานอัยการมีบทบาทพิจารณาสั่งไม่ฟ้องคดีได้ หากพบว่า เป็นคดีปิดกั้นการมีส่วนร่วมสาธารณะ

การแก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

  • นำบทบัญญัติว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีมโนสาเร่มาใช้เพื่อให้เกิดความรวดเร็วในการดำเนินการ
  • ให้จำเลยผู้ยื่นคำร้องมีภาระการพิสูจน์ด้วยการแสดงพยานหลักฐานที่มีน้ำหนักว่าเป็นคดีปิดกั้นการมีส่วนร่วมสาธารณะ ถ้าจำเลยพิสูจน์ได้ ให้ภาระการพิสูจน์ตกอยู่แก่ฝ่ายโจทก์ โดยให้ฝ่ายโจทก์พิสูจน์ให้เห็นความเป็นไปได้ที่จะชนะคดี (ทั้งคดีแพ่งและคดีอาญา)
  • ให้ศาลยกคำร้องของจำเลย ถ้าเป็นคำร้องที่มีวัตถุประสงค์ไม่เหมาะสมหรือมีลักษณะประวิงคดี ศาลจะสั่งให้จำเลยชดใช้ค่าใช้จ่ายได้
  • ถ้าคดีนั้นโจทก์เป็นผู้ทำสัญญากับรัฐบาล ให้ศาลส่งคำพิพากษาไปยังหัวหน้าหน่วยงานภาครัฐ หรือส่งไปที่คณะรัฐมนตรี รัฐสภา (ทั้งคดีแพ่งและคดีอาญา)

            3) การปรับปรุงแก้ไข พรบ. กองทุนยุติธรรม พ.ศ. 2558

          ความสำคัญของปัญหา

  • การให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายไม่สอดคล้องกับหลักการของสหประชาชาติว่าด้วยการช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย
  • การบริหารงานของกองทุนยังเป็นหน่วยงานย่อยในระบบราชการ
  • การใช้ดุลพินิจของอนุกรรมการช่วยเหลือจังหวัดส่งผลให้การให้ความช่วยเหลือมีความแตกต่างกัน
  • ทนายความที่ขึ้นทะเบียนต่อสำนักงานกองทุนยุติธรรม ส่วนใหญ่ยังขาดประสบการณ์
  • การอนุมัติเงินช่วยเหลือมีความล่าช้า

หลักการและแนวคิดในการปฏิรูป

  • การบริหารและการดำเนินงานของกองทุนยุติธรรมต้องมีอิสระ โปร่งใส่ และคล่องตัว
  • ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนยุติธรรมต้องมีประสบการณ์ในการบริหารงาน
  • การพัฒนามาตรฐานการช่วยเหลือทางกฎหมาย
  • พัฒนาและเชื่อมโยงข้อมูลของความช่วยเหลือทางกฎหมาย
  • มีคณะกรรมการติดตามและประเมินผลที่เป็นอิสระ