FIDH ส่งจดหมายเปิดผนึกมีข้อเรียกร้องด้านสิทธิมนุษยชน 8 ประการถึงประธานาธิบดีไซอิงเหวินแห่งไต้หวันในโอกาสที่ชนะการเลือกตั้งเข้ามาดำรงตำแหน่งเป็นวาระที่สอง
FIDH Asia Desk
ฯพณฯ ประธานาธิบดีไซอิงเหวิน
ทำเนียบประธานาธิบดี, No. 122, Section 1, Chongqing South Road, Zhongzheng District, Taipei City 10048, Taiwan
ปารีสและไทเป, 12 มกราคม 2563
ขอแสดงความยินดีที่ท่านได้รับการเลือกตั้งเข้ามาอีกครั้งหนึ่ง
ฯพณฯ ประธานาธิบดีไซอิงเหวิน
ในนามของสามองค์กรที่ลงนามข้างท้ายนี้ กรุณารับการแสดงความยินดีอย่างอบอุ่นของเราในโอกาสที่ท่านได้รับการเลือกตั้งเข้ามาดำรงตำแหน่งเป็นวาระที่สองเมื่อวานนี้
เราได้กำลังใจเป็นอย่างมากจากความมุ่งมั่นทุ่มเทของท่านในเรื่องสิทธิมนุษยชนและนิติธรรมในช่วงที่ท่านดำรงตำแหน่งในวาระแรก และเราเชื่อมั่นว่าท่านจะใช้วาระที่สองในการดำรงตำแหน่งของท่านในการใช้ความพยายามต่อไปที่จะจัดการกับประเด็นสิทธิมนุษยชนบางประการในไต้หวันที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข
เมื่อเดือนตุลาคม 2562 ที่ผ่านมา เราได้รับเกียรติจากท่านมาเป็นองค์ปาถกหลักในพิธีเปิดสมัชชาครั้งที่ 40 ของสหพันธ์สากลเพื่อสิทธิมนุษยชน (FIDH) ในนครไทเป ซึ่งเป็นสมัชชาครั้งแรกของเราที่จัดในทวีปเอเชีย ในปาถกถาของท่านนั้น ท่านได้กล่าวว่า “สิทธิมนุษยชนเป็นการเดินทางที่ประกอบไปด้วยก้าวเล็กๆ มากมาย”
เราเห็นด้วยกับคำกล่าวของท่านข้างต้นนี้ และนี่คือเหตุผลที่เราขอเรียกร้องด้วยความเคารพให้คณะผู้บริหารของท่านพิจารณาก้าวสำคัญที่จะก้าวต่อไปในด้านสิทธิมนุษยชนก่อนที่วาระที่สองในการดำรงตำแหน่งของท่านจะสิ้นสุดลงในปี 2567 ก้าวเหล่านั้นประกอบด้วย
1. การนิรโทษกรรมให้แก่นายเจียวโฮชุน (Chiou Ho-shun) ผู้ถูกคุมขังมาแล้ว 31 ปี รวมทั้งแปดปีสุดท้ายนี้ในฐานะนักโทษรอการประหารชีวิต และสุขภาพของเขาได้เสื่อมโทรมลงเป็นอย่างมาก
2. การประกาศพักการประหารชีวิตอย่างเป็นทางการ ลดโทษให้กับผู้ต้องโทษประหารชีวิตทุกคน และกำหนดกรอบเวลาอย่างละเอียดสำหรับการยกเลิกโทษประหารชีวิตอย่างสิ้นเชิง
3. การส่งเสริมและรับเอากฎหมายผู้ลี้ภัยมาใช้เพื่อประกันให้บุคคลที่มาขอลี้ภัยในไต้หวันได้รับสถานะทางกฎหมายและการคุ้มครองตามมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ
4. การแก้ไข พรบ.มาตรฐานแรงงาน เพื่อประกันและปกป้องคุ้มครองสิทธิของแรงงานอพยพต่างประเทศ รวมทั้งชาวประมงและผู้ดูแลบ้าน
5. การดำเนินงานตามข้อเสนอแนะของผู้เชี่ยวชาญอิสระในคณะกรรมการทบทวนที่ออกมาเมื่อเดือนมีนาคม 2557 และมกราคม 2560 ในประเด็นที่เกี่ยวกับสิทธิของพลเมืองและสิทธิทางการเมือง กับสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมในไต้หวัน
6. การตั้งกรมสิทธิมนุษยชนภายใต้ฝ่ายบริหาร เพื่อประกันว่านโยบายของรัฐบาลทั้งมวลสอดคล้องกับมาตรฐานสิทธิมนุษยชน
7. การทบทวนและแก้ไขกฎหมายและกฤษฎีกาต่างๆ รวมทั้ง พรบ.การทำเหมือง พรบ.อนุรักษ์สัตว์ป่า และ พรบ.การควบคุมปืน วัตถุระเบิด และมีด ซึ่งการดำเนินงานตามกฎหมายเหล่านี้ที่ผ่านมาได้นำไปสู่การละเมิดสิทธิของชนพื้นเมืองอย่างร้ายแรง
8. การปฏิรูปกฎหมายเพื่อประกันความเท่าเทียมกันอย่างสมบูรณ์ให้กับหญิงรักหญิง(lesbian) ชายรักชาย(gay) คนรักสองเพศ(bisexual) คนข้ามเพศ(transgender) และคนหลากหลายเพศ(intersex – LGBTI) รวมถึงการให้สิทธิในการอุปถัมภ์ การเข้าถึงเทคโนโลยีช่วยเหลือในด้านการเจริญพันธุ์ และสิทธิในการแต่งงานของคู่ชีวิตเพศเดียวกันข้ามชาติ
การเคารพ ปกป้องคุ้มครอง และเติมเต็มสิทธิมนุษยชน เป็นหลักสำคัญในการปรับปรุงสภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในทุกสังคมประชาธิปไตย ด้วยความมุ่งมั่นและปณิธานของท่านที่จะจัดการกับประเด็นที่กล่าวถึงข้างต้นนี้ ท่านจะได้สร้างมรดกในการทำให้ไต้หวันเป็นประเทศที่มีมาตรฐานสิทธิมนุษยชนที่ประเทศอื่นเอาเป็นแบบอย่างเลียนแบบได้ในภูมิภาคนี้และกว้างไกลออกไป
จะเป็นสิทธิพิเศษอย่างยิ่งหากเราได้รับโอกาสให้เข้าหารือในประเด็นเหล่านี้กับท่าน และได้อยู่ให้ความเชี่ยวชาญทางเทคนิคที่จำเป็นแก่ท่านตามที่ท่านต้องการเพื่อเอื้ออำนวยการก้าวไปข้างหน้าอย่างสำคัญเหล่านี้ที่เป็นก้าวสำคัญในการเดินทางด้านสิทธิมนุษยชนของไต้หวัน
ขอขอบคุณอย่างสูงที่ท่านให้ความสนใจในเรื่องสำคัญยิ่งนี้
ด้วยความจริงใจ
อลิซ ม็อกเว (Alice Mogwe) ประธาน สหพันธ์สากลเพื่อสิทธิมนุษยชน (FIDH)
แคลแรนซ์ จู (Clarence Chou) ประธาน สมาคมไต้หวันเพื่อสิทธิมนุษยชน Taiwan Association for Human rights – TAHR)
ซงลิหวง (Song-Lih Huang) Convenor, Covenant Watch
สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) Union for Civil Liberty (UCL.)