องค์กรสิทธิฯ ชี้ ‘เรือนจำหญิงต้นแบบ’ คุณภาพยังต่ำกว่ามาตรฐานระหว่างประเทศ

เปิดรายงานของ ‘สมาพันธ์เพื่อสิทธิมนุษยชนสากล’ (FIDH) และ ‘สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน’ (สสส.) พบ ‘เรือนจำหญิงต้นแบบของไทย’ ยังต่ำกว่ามาตรฐานระหว่างประเทศ พบปัญหาความแออัด น้ำและสุขอนามัย ขาดผ้าอนามัยและอุปกรณ์อาบน้ำ คุณภาพของอาหาร บริการการดูแลสุขภาพ รวมทั้งสุขภาพจิต สภาพการใช้แรงงานผู้ต้องขัง การติดต่อกับโลกภายนอก รวมทั้งการลงโทษและการลงโทษทางวินัยที่ใช้กับผู้ต้องขังมักไม่สอดคล้องกับมาตรฐานขั้นต่ำระหว่างประเทศ ที่มาภาพ: AFP [อ้างในรายงานของ FIDH/สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.)]

จากรายงาน “Flawed models – Implementation of international standards in Thailand’s ‘model’ prisons for women,” (ต้นแบบชำรุด – การดำเนินงานตามมาตรฐานระหว่างประเทศในเรือนจำ ‘ต้นแบบ’ เพื่อผู้ต้องขังหญิงของไทย) โดย ‘สมาพันธ์เพื่อสิทธิมนุษยชนสากล’ (FIDH) และ ‘สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน’ (สสส.) ที่เผยแพร่เมื่อต้นเดือน ธ.ค. 2562 รายงานฉบับนี้เป็นผลมาจากการเข้าเยี่ยม ‘เรือนจำต้นแบบ’ 9 จาก 12 แห่ง ระหว่างเดือน พ.ค.-ส.ค. 2561 โดยทีมงานจาก FIDH และ สสส. ทั้งนี้ กรมราชทัณฑ์กำหนดให้ทัณฑสถานหญิง 12 แห่งเป็นเรือนจำต้นแบบ ระบุว่าเป็นการดำเนินงานที่ประสบความสำเร็จตาม ข้อกำหนดสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงในเรือนจำ และมาตรการที่มิใช่การคุมขังสำหรับผู้กระทำผิดหญิงแห่งสหประชาชาติ (United Nations (UN) Rules for the Treatment of Women Prisoners and Non-custodial Measures for Women Offenders หรือ ‘ข้อกำหนดกรุงเทพฯ’) โดยรายงานชิ้นนี้ของ FIDH/สสส. พบประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

การจำกัดการเข้าถึงเรือนจำ

ในหลายเรือนจำที่ FIDH/สสส. เข้าเยี่ยม เจ้าหน้าที่กำหนดข้อจำกัดต่อทีมงานของ FIDH/สสส. ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการประเมินอย่างรอบด้าน อย่างไม่ลำเอียง และอย่างเป็นอิสระ ในแง่การปฏิบัติตามข้อกำหนดกรุงเทพ ของเรือนจำหญิงต้นแบบเหล่านี้ ในทุกเรือนจำ เจ้าหน้าที่อนุญาตให้เข้าเยี่ยมได้ต่อเมื่อมีเวลามากเพียงพอในการเตรียมตัว นอกจากนั้นทีมงานของ FIDH/สสส. ยังไม่สามารถเข้าเยี่ยมเรือนจำจังหวัดอุทัยธานี เนื่องจากเจ้าหน้าที่ปฏิเสธไม่ให้เข้าด้วยเหตุผลว่าทางเรือนจำอยู่ระหว่างการปรับปรุงภายใน

FIDH/สสส. เจอกับข้อห้ามของเจ้าหน้าที่เรือนจำในการเข้าเยี่ยมเรือนจำ 4 จาก 9 แห่ง ได้แก่ ทัณฑสถานบำบัดพิเศษหญิงธัญบุรี เรือนจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ และทัณฑสถานหญิงพิษณุโลก ทีมเข้าเยี่ยมต้องเดินตามเจ้าหน้าที่เรือนจำเมื่อเข้าไปภายในสถานที่ เจ้าหน้าที่ปฏิเสธไม่ให้เข้าเยี่ยมในบางพื้นที่ที่ทีมงานร้องขอ โดยให้เข้าไปได้เฉพาะที่ที่เจ้าหน้าที่เป็นผู้พาไป โดยให้เหตุผลว่าไม่มีเวลามากเพียงพอจึงไม่สามารถให้เข้าไปยังบางพื้นที่ที่ต้องการได้ ที่ทัณฑสถานบำบัดพิเศษหญิง ธัญบุรี ทีมผู้เข้าเยี่ยมมีโอกาสพูดคุยเฉพาะกับผู้ต้องขังที่ได้รับการมอบหมายจากเจ้าหน้าที่เรือนจำ โดยเจ้าหน้าที่จะจับตามองอย่างใกล้ชิดระหว่างการสนทนา เจ้าหน้าที่เรือนจำกลางจังหวัดตาก และทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ ได้อาสาเข้ามาตอบแทนผู้ต้องขังในบางคำถาม ในทางตรงข้ามที่เรือนจำอำเภอฝางและเรือนจำกลางจังหวัดตาก ทีมผู้เข้าเยี่ยมสามารถเข้าถึงในทุกพื้นที่โดยไม่มีข้อจำกัด การสัมภาษณ์ผู้ต้องขังในเรือนจำทั้งสองแห่งก็สามารถทำได้โดยไม่มีเจ้าหน้าที่อยู่ด้วย ในระหว่างการเข้าเยี่ยมผู้ต้องขัง พวกเขามักต้องนั่งลงบนพื้นอย่างเป็นระเบียบเพื่อรอทีมผู้เข้าเยี่ยม เป็นที่ชัดเจนว่าเจ้าหน้าที่ได้เตรียมการกับผู้ต้องขังมาก่อน ในเรือนจำส่วนใหญ่เจ้าหน้าที่จะเดินไปพร้อมกับทีมผู้เข้าเยี่ยมในหลายพื้นที่ของเรือนจำ ส่วนใหญ่แล้วการพูดคุยสนทนาระหว่างทีมผู้เข้าเยี่ยมกับผู้ต้องขังมักเกิดขึ้นภายใต้การสอดส่องดูแลของเจ้าหน้าที่เรือนจำ

ความแออัดยังมีอยู่

ในรายงานของ FIDH/สสส. ระบุว่าความแออัดระดับสูงยังคงเป็นปัญหาเรื้อรังในเรือนจำต้นแบบทั้ง 9 แห่ง | ที่มาภาพประกอบ: Lauren DeCicca/PRI

ความแออัดระดับสูงยังคงเป็นปัญหาเรื้อรังในเรือนจำต้นแบบ 9 แห่ง ที่ทีมงาน FIDH และ สสส. เข้าเยี่ยม ในช่วงที่เริ่มการเข้าเยี่ยมเรือนจำของ FIDH/สสส. ในเดือน เม.ย. 2562 อัตราการกักขังในเรือนจำต้นแบบทั้ง 9 แห่งยังอยู่ในระดับสูง โดยมีอัตราการกักขังต่ำสุดที่ร้อยละ 94 ที่ทัณฑสถานหญิงชลบุรี ส่วนอัตราการกักขังสูงสุดที่ร้อยละ 652 อยู่ที่ทัณฑสถานบำบัดพิเศษหญิงธัญบุรี อัตราการกักขังนี้คำนวณตามมาตรฐานของกรมราชทัณฑ์โดยกำหนดให้มีพื้นที่ 2.25 ตรม. ต่อผู้ต้องขัง 1 คน

อย่างไรก็ดี กรมราชทัณฑ์ได้กำหนดวิธีการวัดความจุแตกต่างกันสามแบบสำหรับความจุอย่างเป็นทางการ ได้แก่ 1) ‘ความจุมาตรฐาน’ หมายถึงการมีพื้นที่ 2.25 ตรม.ต่อผู้ต้องขัง 1 คน 2) ‘ความจุเต็มที่’ หมายถึงการมีพื้นที่ 1.1 ตรม. ต่อผู้ต้องขัง 1 คน และ 3) ‘ความจุเต็มที่ร้อยละ 30 ซึ่งลดพื้นที่ต่อผู้ต้องขัง 1 คนลงร้อยละ 23 เหลือเพียง 0.85 ตรม. วิธีการวัดที่ใช้ส่งผลให้เจ้าหน้าที่สามารถอ้างอัตราการกักขังที่น้อยลงทำให้ปัญหาความแออัดดูไม่ร้ายแรงมากนัก เมื่อเปรียบเทียบกันคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (ICRC) กำหนดพื้นที่ขั้นต่ำที่ 3.4 ตรม.ต่อผู้ต้องขัง 1 คน ในสภาพที่เป็นการขังแบบคู่หรือขังรวม

จากสถิติของกรมราชทัณฑ์ระหว่างเดือน เม.ย. 2561-พ.ย. 2562 จำนวนผู้ต้องขังหญิงเพิ่มขึ้นในเรือนจำต้นแบบ 8 จาก 9 แห่งที่ FIDH/สสส. ได้เข้าเยี่ยมและโดยรวมยังเพิ่มขึ้นร้อยละ 6 แม้สถิติอย่างเป็นทางการชี้ว่าเรือนจำต้นแบบมีสภาพแออัดอย่างมาก (เปรียบเทียบกับความจุมาตรฐาน) แต่ทีมผู้เข้าเยี่ยมก็ประสบปัญหาในการประเมินอัตราการกักขังในเรือนจำทั้ง 9 แห่งที่เข้าเยี่ยม เนื่องจากมีข้อจำกัดในการเข้าเยี่ยม โดยเจ้าหน้าที่มักควบคุมระหว่างการเข้าเยี่ยม รวมทั้งทางทีมงานไม่สามารถเข้าเยี่ยมเรือนนอนนักโทษทุกแห่งได้ และไม่สามารถพูดคุยกับผู้ต้องขังโดยไม่มีเจ้าหน้าที่หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายอยู่ร่วมด้วยได้

ที่เรือนจำจังหวัดสมุทรสาครมีสภาพที่แออัดเกินไป เมื่อทีมผู้เข้าเยี่ยมเข้าไปในพื้นที่ผู้ต้องขังต่างนั่งบนพื้นและต้องขยับตัวออกไปเพื่อให้ทีมงานเดินผ่านไปได้ ในเรือนจำที่ใหญ่กว่า เช่น ทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ ทางเรือนจำได้แยกนักโทษเด็ดขาดออกจากผู้ต้องขังอื่นๆ ที่ทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่เจ้าหน้าที่ระบุว่าความจุปกติอยู่ที่ผู้ต้องขัง 50 คนต่อห้องขนาด 55.5 ตรม. ซึ่งความจริงเป็นห้องที่ออกแบบมาเพื่อรองรับผู้ต้องขัง 38-43 คน พื้นที่ที่จัดไว้ให้แม่กับลูกอ่อนอยู่ที่ 1.26 ตรม. ที่เรือนจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ผู้ต้องขังให้ข้อมูลว่ามีการเปิดไฟในเรือนนอนตลอดคืน ผู้ต้องขังคนหนึ่งที่เรือนจำอำเภอฝางยังให้ข้อมูลว่ามีการเปิดไฟตอนกลางคืน ทำให้เกิดปัญหาในการนอน (ทั้งในแง่การมองเห็นและความร้อน) พวกเขาเคยเรียกร้องให้หรี่ไฟตอนกลางคืนแต่ไม่ประสบความสำเร็จ ในหลายเรือนจำมีระบบระบายอากาศเพียงพอ ในช่วงฤดูหนาวเรือนจำจะมีการแจกจ่ายผ้าห่มเพิ่มเติม

  • ตามความเห็นของคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ ไม่ควรจัดให้ผู้ต้องขังกว่า 40-50 คน ต้องหลับนอนอยู่ในห้องเดียวกัน และให้ทำได้ต่อเมื่อพื้นที่การระบายอากาศและระบบแสงสว่างสอดคล้องกับเงื่อนไขที่แนะนำโดยคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ มีข้อสังเกตว่าหากมีผู้ต้องขังเกินกว่าจำนวนที่กำหนดนี้จะทำให้ผู้ต้องขังประสบปัญหาการเข้าถึงบริการที่จำเป็น ทั้งห้องน้ำและการใช้น้ำ ทั้งยังเป็นการยากที่จะแน่ใจได้ว่าผู้ต้องขังทุกคนจะได้รับความปลอดภัยตามมาตรฐานขั้นต่ำ
  • ข้อกำหนดขั้นต่ำขององค์การสหประชาชาติในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังกำหนดว่าอาคารที่คุมขังทุกแห่งโดยเฉพาะห้องนอน “จะต้องจัดให้ถูกหลักอนามัย ตามสภาพของดินฟ้าอากาศ ข้อสำคัญจะต้องมีอากาศหายใจเพียงพอ มีขนาดของพื้นที่ห้องตามกำหนดขั้นต่ำ มีแสงสว่าง ความอบอุ่น และการระบายอากาศ”
  • คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศกำหนดว่าไม่ควรเปิดไฟฟ้าแสงสว่างเทียมตลอด 24 ชั่วโมงในพื้นที่ที่ผู้ต้องขังนอน และแสงสว่างไม่ควรมากเกินไปจนรบกวนการหลับนอนของผู้ต้องขัง คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศยังระบุว่าขนาดช่องหน้าต่างและช่องเปิดทั้งหมดในห้องขังหรือพื้นที่พักอาศัย ไม่ควรมีสัดส่วนน้อยกว่าร้อยละ 10 ของพื้นที่ห้อง และผู้ต้องขังควรสามารถมองทะลุหน้าต่างออกไปเห็นสิ่งแวดล้อมภายนอกได้

ปัญหาด้านสุขอนามัย

น้ำและสุขอนามัยยังคงเป็นปัญหาในเรือนจำหลายแห่ง โดยเฉพาะช่วงฤดูร้อนซึ่งอาจขาดแคลนน้ำ เรือนจำบางแห่งยังไม่สามารถให้ผู้ต้องขังเข้าถึงห้องน้ำได้ตลอด 24 ชั่วโมง ส่วนในเรือนจำแห่งอื่น ห้องน้ำอาจใช้งานไม่ได้บางช่วงเวลา เจ้าหน้าที่ที่เรือนจำกลางจังหวัดตากอนุญาตให้ผู้ต้องขังใช้ห้องน้ำได้ทุก 2 ชั่วโมงเท่านั้น ส่วนผู้ต้องขังที่เรือนจำกลางจังหวัดเชียงรายระบุว่าส่วนใหญ่ส้วมมักจะตัน

ในเรือนจำทั้ง 9 แห่ง ผู้ต้องขังจะได้รับอนุญาตให้อาบน้ำ 2 ครั้งต่อวัน โดยมีการจำกัดปริมาณน้ำและระยะเวลาของการอาบน้ำแต่ละรอบขึ้นอยู่กับฝ่ายจัดการของแต่ละเรือนจำ ในแง่การควบคุมน้ำ เจ้าหน้าที่เรือนจำหรือนักโทษ ‘ผู้ช่วย’ จะเป็นผู้ควบคุมเวลาปิดและเปิดน้ำ ในทุกเรือนจำจะเป็นที่อาบน้ำแบบรวม ไม่มีเรือนจำใดมีห้องน้ำแยกเป็นส่วนตัว ที่เรือนจำจังหวัดสมุทรสาคร เรือนจำกลางจังหวัดตาก และทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ มีการติดตั้งท่อประปาสีฟ้าและมีฝักบัวสำหรับผู้ต้องขังแต่ละคน ซึ่งถือว่าถูกสุขลักษณะมากกว่าการตักอาบจากแท็งก์น้ำ ส่วนที่เรือนจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยาใช้วิธีตักอาบจากแท็งก์น้ำ ผู้ต้องขังที่เรือนจำอำเภอฝางและเรือนจำกลางจังหวัดเชียงรายให้ข้อมูลว่าใช้น้ำบาดาลเพื่ออาบน้ำและซักผ้าช่วงฤดูร้อน การขาดแคลนน้ำส่งผลกระทบต่อเรือนจำเหล่านี้ เป็นเหตุให้ผู้ต้องขังบางส่วนต้องอาบน้ำเพียง 1 ครั้งต่อวัน ที่เรือนจำกลางจังหวัดเชียงรายไม่มีการจัดพื้นที่ตากผ้าให้มากเพียงพอ ส่งผลให้ในบางครั้งผู้ต้องขังต้องสวมเสื้อผ้าเปียกชื้นซึ่งอาจทำให้เกิดโรคผิวหนัง

ผู้ต้องขังประสบปัญหาการขาดแคลนผ้าอนามัยและอุปกรณ์อาบน้ำในหลายเรือนจำ ทั้งยังมีการขาดแคลนผงซักฟอก ในบางครั้งผู้ต้องขังต้องใช้ผ้าเช็ดตัวร่วมกัน เพราะผู้ต้องขังไม่ได้มีผ้าเช็ดตัวทุกคน มีการแจกจ่ายผ้าอนามัยให้กับผู้ต้องขังหญิงทุกเดือนหรือทุกไตรมาส ขึ้นอยู่กับเจ้าหน้าที่เรือนจำที่ทัณฑสถานบำบัดพิเศษหญิงธัญบุรี เรือนจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เรือนจำกลางจังหวัดเชียงราย และทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ ผู้ต้องขังให้ข้อมูลว่าผ้าอนามัยที่แจกไม่เพียงพอ ทำให้ต้องไปซื้อที่ร้านค้าในเรือนจำ ผู้ต้องขังที่เรือนจำกลางจังหวัดเชียงรายให้ข้อมูลว่ามีการแจกชุดชั้นในให้ไม่เพียงพอ กรณีที่ผู้ต้องขังไม่มีคนมาเยี่ยม (ปกติคนที่มาเยี่ยมมักนำข้าวของเครื่องใช้เพิ่มเติมมาให้) ผู้ต้องขังคนนั้นต้องขอให้ทางเรือนจำจัดให้เป็น ‘นักโทษอนาถา’ ซึ่งหากได้สถานะเช่นนั้นจะทำให้ผู้ต้องขังได้รับแจกผงซักฟอกและสบู่เพิ่มเติม การจัดสถานะเช่นนั้นขึ้นอยู่กับดุลพินิจของเจ้าหน้าที่

  • ข้อกำหนดขั้นต่ำขององค์การสหประชาชาติในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังระบุว่า “มีเครื่องสุขภัณฑ์เพียงพอแก่ความจำเป็นกับผู้ต้องขังทุกคน ทั้งต้องสะอาดและเหมาะสม ไม่ประเจิดประเจ้อ”
  • ข้อกำหนดขั้นต่ำขององค์การสหประชาชาติในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังกำหนดว่า ที่อาบน้ำชำระร่างกายต้องเพียงพอต่อสุขลักษณะ นอกจากนั้นคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศยังกำหนดว่าการจัดหาน้ำต้องพอเพียงเพื่อให้มีปริมาณการไหลอย่างพอเหมาะไปถึงที่อาบน้ำและห้องส้วมตลอดทั้งวัน โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่มีความต้องการใช้น้ำมาก
  • คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศกำหนดว่าควรจัดหาผ้าอนามัยให้ผู้หญิงเมื่อมีประจำเดือนอย่างเพียงพอต่อความต้องการของแต่ละคน ข้อกำหนดสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงในเรือนจำและมาตรการที่มิใช่การคุมขังสำหรับผู้กระทำผิดหญิงกำหนดว่า สถานที่คุมขังสำหรับผู้ต้องขังหญิงควรจัดให้มีเครื่องใช้ที่จำเป็นด้านสุขอนามัยเฉพาะของผู้หญิง รวมทั้งผ้าอนามัยซึ่งควรจัดให้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

อาหารไม่ได้คุณภาพ

ในรายงานของ FIDH/สสส. ระบุว่าคุณค่าทางโภชนาการและปริมาณอาหารในเรือนจำเป็นข้อกังวลอย่างหนึ่ง โดยเฉพาะสำหรับผู้ต้องขังยากจนซึ่งไม่สามารถซื้ออาหารเพิ่มเติมจากร้านค้าในเรือนจำหรือร้านค้าภายนอกได้ | ที่มาภาพประกอบ: Lauren DeCicca/PRI

คุณค่าทางโภชนาการและปริมาณอาหารในเรือนจำเป็นข้อกังวลอย่างหนึ่ง โดยเฉพาะสำหรับผู้ต้องขังยากจนซึ่งไม่สามารถซื้ออาหารเพิ่มเติมจากร้านค้าในเรือนจำหรือร้านค้าภายนอกได้ เรือนจำทั้ง 9 แห่ง จัดบริการอาหาร 3 มื้อต่อวัน ผู้ต้องขังจากเรือนจำกลางจังหวัดตากและเรือนจำกลางจังหวัดเชียงรายให้ข้อมูลว่าอาหารไม่อร่อย ผู้ต้องขังมักต้องเติมผงชูรสเข้าไปเพื่อให้รสชาติอาหารดีขึ้น อาหารในเรือนจำมีเนื้อสัตว์ไม่มากนัก และเป็นเนื้อที่ด้อยคุณภาพ ในบางครั้งผู้ต้องขังต้องซื้ออาหารเพิ่มจากร้านค้าในเรือนจำ เรือนจำทั้ง 9 แห่ง จัดให้มีอาหารฮาลาลสำหรับผู้ต้องขังมุสลิม ในบางกรณีที่เรือนจำอำเภอฝาง ทัณฑสถานบำบัดพิเศษหญิง ธัญบุรี เรือนจำจังหวัดสมุทรสาคร และเรือนจำกลางจังหวัดตาก จะจัดให้มีผลไม้หรือของหวานในช่วงท้ายของแต่ละมื้อด้วย ที่เรือนจำกลางจังหวัดตาก ผู้ต้องขังสามารถขอให้เจ้าหน้าที่เรือนจำช่วยสั่งอาหารและส่งเข้ามาในเรือนจำได้ ที่เรือนจำกลางจังหวัดเชียงรายแม่ที่มีลูกอ่อนจะได้รับไข่ต้ม 1 ใบและนม 1 กล่องต่อวัน ส่วนลูกจะได้รับไข่ 1 ใบต่อวันเพิ่มเติมจากอาหารที่ได้รับในแต่ละวัน

ผู้ต้องขังแต่ละคนได้รับแจกขวดแก้วหรือพลาสติกไว้เติมน้ำดื่มที่ผ่านการกรอง ในเรือนจำหลายแห่งยังมีการจัดน้ำทั้งเย็นและร้อนไว้ให้ดื่มด้วย

  • ข้อกำหนดขั้นต่ำขององค์การสหประชาชาติในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังกำหนดว่า “ผู้ต้องขังทุกคนจะต้องได้รับอาหารที่จัดให้เป็นเวลาโดยเรือนจำ อันมีประโยชน์และเพียงพอต่อสุขภาพและเพื่อความแข็งแรงแห่งร่างกาย โดยต้องจัดปรุงอย่างสะอาด และจัดให้อย่างเป็นระเบียบ”
  • ข้อกำหนดขั้นต่ำขององค์การสหประชาชาติในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังกำหนดว่า “น้ำต้องจัดไว้เพื่อให้ผู้ต้องขังทุกคนได้ดื่มเมื่อต้องการ”

บริการดูแลสุขภาพที่ไม่สอดคล้องกับมาตรฐานขั้นต่ำ

แม้จะจัดให้มีบริการการดูแลสุขภาพบางอย่าง แต่ยังมีช่องว่างจำนวนมากระหว่างบริการที่เรือนจำจัดให้เมื่อเปรียบเทียบกับมาตรฐานขั้นต่ำระหว่างประเทศ

ไม่มีแพทย์ประจำในเรือนจำ เรือนจำเหล่านี้ไม่มีแพทย์ประจำแม้แต่แห่งเดียว มีเฉพาะทัณฑสถานหญิงพิษณุโลก ทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ และทัณฑสถานบำบัดพิเศษหญิงธัญบุรี ซึ่งมีพยาบาลในเรือนจำที่ใช้บริการได้ตลอด 24 ชั่วโมง ส่วนในเรือนจำแห่งอื่นพยาบาลจะมาทำหน้าที่เฉพาะช่วงกลางวัน หากมีเหตุฉุกเฉินตอนกลางคืน เจ้าหน้าที่เรือนจำต้องส่งผู้ต้องขังไปที่โรงพยาบาลใกล้เคียง ที่ทัณฑสถานหญิงชลบุรีและเรือนจำกลางจังหวัดตาก จะมีนักโทษ ‘ผู้ช่วย’ ช่วยพยาบาลทำงาน

บริการด้านทันตกรรมไม่เพียงพอ ในเรือนจำหลายแห่งทันตแพทย์จะมาตรวจทุก 2 หรือ 3 เดือน ผู้ต้องขังที่ทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่บอกว่าเธอต้องเอาที่จัดฟันออกเองเพราะไม่สามารถไปพบทันตแพทย์ได้ ที่ทัณฑสถานหญิงชลบุรี ทันตแพทย์จะมาตรวจเพียง 1 ครั้งต่อปี สถานการณ์ที่ทัณฑสถานหญิงพิษณุโลกดีกว่าเนื่องจากทันตแพทย์จะมาตรวจที่เรือนจำทุกเดือน ที่ทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่มีห้องสำหรับงานตรวจทันตกรรม ส่วนที่เรือนจำหญิงเชียงใหม่และเรือนจำอำเภอฝาง มีบริการเฉพาะการถอนฟันเท่านั้น

การขาดการดูแลด้านสุขภาพจิต กรมราชทัณฑ์จัดทำแบบสำรวจคัดกรองด้านสุขภาพจิตเรียกว่า ‘แบบสำรวจด้านสุขภาพจิตของนักโทษ’ ซึ่งมีการแจกจ่ายไปยังทุกเรือนจำทัณฑสถานบำบัดพิเศษหญิงธัญบุรีมี ‘ศูนย์ความสุข’ ซึ่งทำการประเมินด้านสุขภาพจิตรวมทั้งให้คำปรึกษา นักจิตเวชจะมาตรวจที่เรือนจำเป็นครั้งคราว อย่างไรก็ดีผู้ต้องขังที่เรือนจำอำเภอฝางบอกว่าเป็นแค่ “กระบวนการสั้นๆ” โดยไม่มีการให้คำปรึกษาที่เรือนจำอำเภอฝาง

การขาดการคัดกรองด้านสุขภาพที่จำเป็นของผู้หญิง ที่เรือนจำอำเภอฝางจะมีบริการตรวจคัดกรองวัณโรคและมะเร็งปากมดลูกทุกปี ที่เรือนจำจังหวัดสมุทรสาครผู้ต้องขังสามารถลงทะเบียนขอรับการตรวจแปปสเมียร์สำหรับมะเร็งปากมดลูกได้ ที่ทัณฑสถานหญิงชลบุรีมีบริการคัดกรองการมีเชื้อเอชไอวี มะเร็งปากมดลูก และมะเร็งเต้านมสำหรับผู้ต้องขังที่มีอายุกว่า 30 ปีขึ้นไป ที่เรือนจำกลางจังหวัดตากมีบริการคัดกรองเอชไอวีและมะเร็งปากมดลูกทุกปี ที่ทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ เรือนจำกลางจังหวัดเชียงราย เรือนจำกลางจังหวัดตาก และเรือนจำจังหวัดสมุทรสาคร มีการจัดอบรมการคัดกรองมะเร็งเต้านมเบื้องต้น

โรคเรื้อรังทั่วไป เรือนจำจะมีบัญชียาที่จัดทำให้โดยกรมราชทัณฑ์ หลายเรือนจำเกิดการระบาดของโรคต่างๆ รวมทั้งโรคไตและความดันโลหิตสูง ที่ทัณฑสถานหญิงชลบุรี โรคเบาหวานและตื่นเต้นกังวลเป็นอาการทั่วไปของผู้ต้องขัง ไม่มีบริการรักษาให้กับผู้ต้องขังที่มีอาการลงแดงจากยาเสพติด ที่ทัณฑสถานหญิงชลบุรีเจ้าหน้าที่เรือนจำบอกว่ามีการจัดให้ผู้ต้องขังที่มีอาการลงแดงดังกล่าวได้บริโภคอาหารที่มีรสหวานจำนวนมาก

มีรายงานการเสียชีวิตหนึ่งคนช่วงต้นปี 2561 ที่เรือนจำกลางจังหวัดเชียงราย โดยผู้ต้องขังเสียชีวิตจากโรคเอสแอลอี (โรคพุ่มพวง) เรือนจำเคยส่งเธอไปที่โรงพยาบาลครั้งหนึ่งแล้ว และต่อมาส่งกลับมาที่เรือนจำเรือนจำ โดยระบุว่าอาการของเธอลุกลามไปมากจนแพทย์ไม่สามารถทำการรักษาได้ เป็นเหตุให้เธอพักอาศัยอยู่ในเรือนนอนของเรือนจำร่วมกับเพื่อนผู้ต้องขังคนอื่นและอดีตผู้ต้องขังที่เคยเป็นพยาบาลจนกระทั่งเธอเสียชีวิต ช่วงเราเข้าเยี่ยม มีรายงานว่าผู้ต้องขังประมาณ 30 คนมีเชื้อเอชไอวีที่ทัณฑสถานหญิงชลบุรี

บริการแพทย์ทางเลือก มีเรือนจำอำเภอฝางเพียงแห่งเดียวที่พบผู้ต้องขังซึ่งใช้การแพทย์ทางเลือก กลุ่มผู้ต้องขังที่เรือนจำนี้ใช้วิธีรักษาที่เรียกว่า ‘กัว’ โดยการนำถ้วยหลายใบมาวางบนผิวหนังของคนไข้ ตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย เพื่อให้ดูดสารพิษและกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดในส่วนต่างๆ ไม่มีข้อมูลว่าการรักษาเช่นนี้ส่งผลในเชิงบวกหรือลบอย่างไร

  • ข้อกำหนดขั้นต่ำขององค์การสหประชาชาติในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังกำหนดว่า “การให้บริการด้านการรักษาพยาบาลแก่ผู้ต้องขังเป็นความรับผิดชอบของรัฐ โดยผู้ต้องขังควรได้รับการรักษาพยาบาลตามมาตรฐานเช่นเดียวกับที่รัฐจัดให้กับประชาชนอื่น และจะต้องสามารถเข้าถึงบริการที่จำเป็นโดยไม่คิดมูลค่าและไม่เลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งสถานภาพด้านกฎหมายของตน”
  • ข้อกำหนดขั้นต่ำขององค์การสหประชาชาติในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังกำหนดว่า “บริการรักษาพยาบาลจะต้องมีคณะทำงานสหวิชาชีพ ซึ่งประกอบด้วยบุคลากรที่มีคุณสมบัติเหมาะสมอย่างเพียงพอสำหรับหน่วยบริการด้านการรักษาพยาบาลที่เป็นอิสระ และมีศักยภาพด้านการแพทย์อย่างเต็มที่ โดยควรมีความเชี่ยวชาญอย่างเพียงพอทั้งด้านจิตวิทยาและจิตเวช และต้องจัดให้ผู้ต้องขังทุกคนสามารถเข้าถึงบริการด้านทันตกรรมที่มีคุณภาพด้วย”
  • ข้อกำหนดขั้นต่ำขององค์การสหประชาชาติในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังกำหนดว่า “หากเป็นไปได้ เจ้าหน้าที่เรือนจำควรประกอบด้วยบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษอย่างเพียงพอ ทั้งที่เป็นนักจิตเวช นักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ครู และผู้สอนงานช่างฝีมือ” ในทำนองเดียวกัน ข้อกำหนดสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงในเรือนจำและมาตรการที่มิใช่การคุมขังสำหรับผู้กระทำผิดหญิงกำหนดว่าต้องจัดให้มี “บริการดูแลด้านสุขภาพจิตและโครงการบำบัดฟื้นฟูที่ครอบคลุม โดยคำนึงความต้องการเฉพาะราย ความละเอียดอ่อนทางเพศภาวะและผลกระทบจากประสบการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจอย่างรุนแรง” ให้กับผู้ต้องขังหญิงที่ต้องการการดูแลด้านสุขภาพจิต
  • ข้อกำหนดสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงในเรือนจำและมาตรการที่มิใช่การคุมขังสำหรับผู้กระทำผิดหญิง กำหนดว่าผู้ต้องขังหญิงพึงได้รับบริการด้านการป้องกันโรคที่เกี่ยวข้องกับผู้หญิง รวมทั้งการตรวจแปปสเมียร์ และการคัดกรองมะเร็งเต้านม มะเร็งทางนรีเวช “เช่นเดียวกับผู้หญิงช่วงวัยเดียวกัน ในชุมชนภายนอก” ทั้งยังกำหนดว่า “เรือนจำควรส่งเสริม และพัฒนาแนวทางการป้องกันการติดเชื้อเอช ไอ วีการดูแลรักษาผู้ป่วย อาทิการใช้ระบบเพื่อนสอนเพื่อน”
  • ข้อกำหนดสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงในเรือนจำและมาตรการที่มิใช่การคุมขังสำหรับผู้กระทำผิดหญิง กำหนดว่า “การให้บริการด้านสุขภาพในเรือนจ่าควรจัดหรือส่งเสริมให้มีกิจกรรมการบ่าบัดเฉพาะสำหรับผู้ต้องขังหญิงที่ติดสารเสพติด

สภาพการใช้แรงงานผู้ต้องขังที่ไม่สอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศ

ในรายงานของ FIDH/สสส. ระบุว่าการใช้แรงงานผู้ต้องขังและสภาพการทำงานต่ำกว่ามาตรฐานขั้นต่ำระหว่างประเทศเป็นอย่างมาก ในแง่ “การจ่ายค่าตอบแทนอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม” | ที่มาภาพประกอบ: REUTERS/Athit Perawongmetha

การใช้แรงงานผู้ต้องขังและสภาพการทำงานต่ำกว่ามาตรฐานขั้นต่ำระหว่างประเทศเป็นอย่างมาก ในแง่ “การจ่ายค่าตอบแทนอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม” ที่เรือนจำทั้ง 9 แห่งมีการฝึกอบรมด้านอาชีพให้กับผู้ต้องขัง ผู้ต้องขังจะได้รับค่าแรงต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำตามที่กำหนดในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 (แก้ไขเพิ่มเติมปี 2562) เนื่องจากถือว่าการใช้แรงงานผู้ต้องขังเป็น ‘การฝึกอาชีพอย่างหนึ่ง’ อัตราค่าแรง นโยบายการจัดการด้านทรัพยากรมนุษย์และระยะเวลาการจ่ายเงิน จะเป็นไปตามดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ของแต่ละเรือนจำ ผู้ต้องขังในหลายเรือนจำมักทำงานเย็บเสื้อ รีดเสื้อ ทำขนมปัง ทำผม นวด และตัดเย็บ ในบางกรณี การจัดงานให้จะขึ้นอยู่กับระดับชั้นของผู้ต้องขังแต่ละคน ที่ทัณฑสถานบำบัดพิเศษหญิงธัญบุรี มีรูปแบบการทำงานที่หลากหลาย ทั้งการตัดยาง การทำสร้อยคอทองคำด้วยมือ การเป็นพนักงานตอบคำถามทางโทรศัพท์ และการเย็บกากเพชร(ชุดราตรี)

ผู้ต้องขังที่ทัณฑสถานหญิงชลบุรี จะจ้างงานกันเองอย่างไม่เป็นทางการ ได้แก่ การจ้างให้ซักผ้า ผู้ต้องขังคนหนึ่งอาจมีรายได้ประมาณ 300 บาท ต่อเดือนจากการรับซักผ้าให้ผู้ต้องขังคนอื่น ผู้ต้องขังซึ่งทำงานในแผนกอบขนมปังที่เรือนจำกลางจังหวัดตากบอกว่าในบางสัปดาห์พวกเขาต้องทำงานทั้งวันเสาร์และอาทิตย์ ที่เรือนจำกลางจังหวัดเชียงราย มีการเปิดร้านทำผมเพื่อให้บริการกับผู้ต้องขัง รวมทั้งยังเป็นที่ฝึกอาชีพทำผมให้กับผู้ต้องขัง ผู้ต้องขังที่มีฝีมือในการทำผมสามารถทำงานในร้านนี้โดยได้รับค่าตอบแทน 900-2,000 บาทต่อเดือน ทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ยังเปิดร้านนวดในเรือนจำเป็นการฝึกให้ผู้ต้องขังนวดให้กับนักท่องเที่ยว ผู้ต้องขังคนหนึ่งบอกว่าเธอทำเงินได้ประมาณ 18,000 บาทต่อเดือน

ผู้ต้องขังมีโอกาสทำงานภายนอกเรือนจำได้เช่นกันแม้ว่าจะเป็นงานที่ไม่ได้รับค่าตอบแทน แต่ผู้ต้องขังก็อยากทำเพราะเป็นโอกาสที่จะได้ออกไปใช้เวลาอยู่ภายนอกเรือนจำ ผู้ต้องขังที่มีโอกาสทำงานแบบนี้ต้องมีประวัติความประพฤติดี และต้องไม่ใช่เป็นผู้กระทำผิดซ้ำ

  • ข้อกำหนดขั้นต่ำขององค์การสหประชาชาติในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังกำหนดว่าควร “จัดให้มีระบบจ่ายค่าตอบแทนในการทำงานของผู้ต้องขังอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม” และ “การใช้แรงงานในเรือนจำต้องไม่ก่อให้เกิดความเจ็บปวด” ทั้งยังกำหนดว่า “หากเป็นไปได้ ให้จัดให้มีงานในลักษณะที่สนับสนุนหรือเพิ่มพูนความสามารถของผู้ต้องขังที่จะหาเลี้ยงชีพได้อย่างสุจริตภายหลังได้รับการปล่อยตัว”
  • ข้อกำหนดขั้นต่ำขององค์การสหประชาชาติในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังกำหนดว่า “ระยะเวลาการทำงานแต่ละวันและแต่ละสัปดาห์ของผู้ต้องขังต้องกำหนดให้สอดคล้องกับกฎหมายแรงงาน หรือตามระเบียบในเรือนจำ ทั้งนี้โดยอยู่บนพื้นฐานข้อกำหนดหรือประเพณีการปฏิบัติที่ใช้กับการจ้างแรงงานโดยทั่วไป” ทั้งยังกำหนดว่าต้องกำหนดระยะเวลาการทำงาน “ให้มีเวลาเพียงพอต่อการศึกษาเล่าเรียนและกิจกรรมอย่างอื่น ซึ่งเป็นเงื่อนไขจำเป็นเพื่อการปฏิบัติและการฟื้นฟูผู้ต้องขัง

การติดต่อกับโลกภายนอก ถูกจำกัดอย่างไม่มีเหตุผล

ระเบียบควบคุมทำให้การติดต่อกับโลกภายนอกของผู้ต้องขังหญิงถูกจำกัดอย่างไม่มีเหตุผล ผู้ต้องขังหญิงจะได้รับการเยี่ยมตามจำนวนผู้เข้าเยี่ยมที่กำหนดและไม่สามารถใช้โทรศัพท์สาธารณะในเรือนจำได้ ที่เรือนจำกลางจังหวัดตากเปิดให้มีการเยี่ยมเป็นพิเศษทุกวันศุกร์สำหรับแม่ที่มีบุตรอายุต่ำกว่า 18 เดือน

ผู้ต้องขังให้ข้อมูลกับทีมผู้เข้าเยี่ยมว่าต้องสื่อสารกับทนายความผ่านโทรศัพท์ในห้องเข้าเยี่ยม ซึ่งทำให้รู้สึกไม่สบายใจเนื่องจากขาดความเป็นส่วนตัว แต่ที่ทัณฑสถานหญิงชลบุรีผู้ต้องขังสามารถสื่อสารกับทนายความผ่านลูกกรงได้ ข้อบังคับกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการเข้าเยี่ยมผู้ต้องขังกำหนดว่าผู้ต้องขังต้องจัดทำรายชื่อบุคคล 10 คนล่วงหน้า ซึ่งเป็นบุคคลที่จะได้รับอนุญาตให้เข้าเยี่ยมในวันพิเศษอย่างเช่น วันสงกรานต์ [วันปีใหม่ไทย] และวันปีใหม่สากล เรือนจำจังหวัดสมุทรสาครและเรือนจำอำเภอฝางจะจัดให้มีการเยี่ยมเป็นพิเศษระหว่างผู้ต้องขังกับลูกหรือญาติของตนเองและอนุญาตให้มีการสัมผัสตัวได้

ไม่มีเรือนจำใดจัดให้ผู้ต้องขังใช้โทรศัพท์สาธารณะได้เลย ในส่วนของจดหมายแต่ละเรือนจำจะมีระบบแตกต่างกันไป ยกตัวอย่างเช่น เรือนจำอำเภอฝางและเรือนจำกลางจังหวัดตากอนุญาตให้ผู้ต้องขังส่งจดหมายสองฉบับต่อสัปดาห์และให้เขียนจดหมายได้ช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ โดยเจ้าหน้าที่จะเป็นผู้ตรวจเนื้อหาจดหมายทุกฉบับและจดหมายแต่ละฉบับมีความยาวได้ไม่เกิน 15 บรรทัด ทัณฑสถานบำบัดพิเศษหญิงธัญบุรีกำหนดจำนวนจดหมายที่ผู้ต้องขังสามารถส่งออกไปได้ โดยขึ้นอยู่กับชั้นของผู้ต้องขัง (ผู้ต้องขังชั้นเลวสามารถส่งจดหมายได้ 1 ฉบับต่อเดือน ชั้นกลางส่งได้ไม่เกิน 2 ฉบับต่อเดือน ชั้นดีส่งได้ไม่เกิน 4 ฉบับต่อเดือน และชั้นดีมากส่งได้ไม่เกิน 8 ฉบับต่อเดือน) ที่ทัณฑสถานหญิงชลบุรีจะมีกิจกรรมพิเศษที่ให้ผู้ต้องขังถ่ายภาพตนเองและส่งไปให้ครอบครัวโดยต้องให้เจ้าหน้าที่เรือนจำเป็นผู้จัดการ

  • ข้อกำหนดขั้นต่ำขององค์การสหประชาชาติในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังกำหนดว่า “ผู้ต้องขังต้องได้รับอนุญาตให้สื่อสารกับครอบครัวและเพื่อนของตนตามระยะเวลาที่เหมาะสม ทั้งนี้โดยมีการกำกับดูแลเท่าที่จำเป็น (ก) โดยการเขียนจดหมายและหากเป็นไปได้ [..] และ (ข) โดยการเยี่ยม

การจำกัดการเข้าถึงข้อมูลจากโลกภายนอก-ไม่มีการเก็บความลับของผู้ร้องเรียน

ในเรือนจำส่วนใหญ่ที่ทีมงาน FIDH/สสส.เข้าเยี่ยม พบว่ายังมีการจำกัดอย่างเข้มงวดต่อการรับข้อมูลจากภายนอกของผู้ต้องขัง ที่น่ากังวลอย่างหนึ่งคือการที่ผู้ต้องขังไม่สามารถเข้าถึงข่าวสารได้ มีการติดตั้งโทรทัศน์ที่เรือนนอนนักโทษในทุกเรือนจำเว้นแต่ที่เรือนจำกลางจังหวัดเชียงราย เจ้าหน้าที่เรือนจำเป็นผู้กำหนดว่าจะเปิดรายการอะไรให้ดู ในทุกเรือนจำจะอนุญาตให้มีการเปิดเฉพาะรายการที่อัดไว้ล่วงหน้าหรือเป็นการออกอากาศซ้ำ ซึ่งหมายความว่าจะไม่มีการเปิดรายการข่าว เจ้าหน้าที่มักเปิดละครที่อัดไว้หรือ ‘ข่าวในพระราชสำนัก’ ให้ดู โดยไม่อนุญาตให้อ่านหนังสือพิมพ์ ทีมเข้าเยี่ยมจาก FIDH/สสส.ไม่สามารถเก็บข้อมูลได้มากนักเกี่ยวกับโอกาสในการออกกำลังกายระหว่างอยู่ในเรือนจำ อย่างไรก็ดีที่ทัณฑสถานหญิงชลบุรีได้รับแจ้งว่าทางเรือนจำจัดให้มีวันแข่งขันกีฬาประจำปี

นอกจากนี้ ยังพบว่ากลไกร้องเรียนในหลายเรือนจำมักอยู่ในรูปกล่องรับความเห็น ผู้ต้องขังสามารถเขียนข้อร้องเรียนและใส่ลงไปในกล่อง แต่แทบจะไม่สามารถดำเนินการอย่างเป็นความลับได้เลย

  • ข้อกำหนดขั้นต่ำขององค์การสหประชาชาติในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังกำหนดว่า “ผู้ต้องขังต้องได้รับข่าวสารที่สำคัญอย่างสม่ำเสมอโดยการอ่านหนังสือพิมพ์ นิตยสาร หรือสิ่งพิมพ์เผยแพร่ของหน่วยงานใดๆ ได้รับฟังวิทยุคำบรรยายหรือช่องทางเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่คล้ายคลึงกันอื่นใด โดยได้รับอนุญาตและอยู่ใต้การควบคุมของผู้บริหารเรือนจำ”
  • ข้อกำหนดขั้นต่ำขององค์การสหประชาชาติในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังกำหนดว่า “ต้องจัดให้มีกิจกรรมนันทนาการและวัฒนธรรมในเรือนจำทุกแห่ง ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ด้านสุขภาพทางจิตใจและร่างกายของผู้ต้องขัง”
  • ข้อกำหนดขั้นต่ำขององค์การสหประชาชาติในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังกำหนดว่า “ผู้ต้องขังทุกคนต้องมีโอกาสทุกวันในการยื่นคำร้องขอหรือร้องทุกข์ต่อผู้บัญชาการเรือนจำหรือเจ้าพนักงานเรือนจำที่ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่แทน” และต้องมีหลักประกันเพื่อ “เพื่อคุ้มครองให้ผู้ต้องขังสามารถยื่นคำร้องขอหรือร้องทุกข์ได้อย่างปลอดภัย และ […] ให้กระทำอย่างเป็นความลับ” โดยที่ผู้ต้องขังนั้น “ต้องไม่ตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะถูกตอบโต้ ข่มขู่ หรือได้รับผลกระทบด้านลบใดๆ อันเนื่องมาจากการยื่นคำร้องขอหรือร้องทุกข์นั้น”

การลงโทษและการลงโทษทางวินัยไม่สอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศ

การลงโทษที่นำมาใช้กับผู้ต้องขังไม่สอดคล้องกับมาตรฐานขั้นต่ำระหว่างประเทศ และในบางกรณีอาจถึงขั้นเป็นการทรมานหรือการปฏิบัติที่โหดร้ายเพื่อรักษาความเป็นระเบียบเรียบร้อยของผู้ต้องขัง เจ้าหน้าที่เรือนจำในเรือนจำทั้ง 9 แห่ง ใช้วิธีการลงโทษที่แตกต่างกัน ทั้งการจับให้ออกกำลังกายอย่างหนักกลางแดด การลดโควตาจดหมายของผู้ต้องขังการลดชั้นของผู้ต้องขัง การบังคับให้นั่งหรือยืนกลางแดดเป็นเวลาหลายชั่วโมง และการแยกขัง ผู้ต้องขังทุกคนต้องรู้จัก “10 ท่าทำโทษ” ซึ่งกรมราชทัณฑ์นำมาใช้กับเรือนจำทุกแห่งเพื่อสั่งสอนผู้ต้องขังมีการนำการลงโทษหลายวิธี รวมทั้งการบังคับให้ออกกำลังกายอย่างหนักและการลุกนั่ง มาใช้รวมกันกับผู้ต้องขังเป็นกลุ่มไม่ใช่แค่รายบุคคล

ไม่มีระเบียบกำหนดเกี่ยวกับประเภทการลงโทษกรณีที่มีการละเมิดระเบียบในเรือนจำหรือเมื่อมีการประพฤติมิชอบทั้งหมดขึ้นอยู่กับดุลพินิจของเจ้าหน้าที่เรือนจำ ที่ทัณฑสถานบำบัดพิเศษหญิงธัญบุรีทีมเข้าเยี่ยมจาก FIDH/สสส. สังเกตเห็นเจ้าหน้าที่หญิงคนหนึ่งถือไม้เรียวไปด้วย

  • ข้อกำหนดขั้นต่ำขององค์การสหประชาชาติในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังกำหนดว่า “ไม่ว่าในสถานการณ์ใดๆ จะต้องไม่มีการจำกัดเสรีภาพหรือการลงโทษทางวินัยใดๆ ถึงขั้นเป็นการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมหรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี” ทั้งยังกำหนดห้ามการลงโทษแบบกลุ่ม
  • ข้อกำหนดขั้นต่ำขององค์การสหประชาชาติในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังกำหนดว่าการลงโทษทางวินัย ประเภทและระยะเวลาการลงโทษที่อาจทำได้และที่เจ้าพนักงานสามารถนำมาใช้ได้ “ต้องมีกฎหมายหรือระเบียบข้อบังคับที่ออกโดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารรองรับ” ทั้งยังกำหนดว่าการลงโทษนั้น “ได้สัดส่วนระหว่างมาตรการลงโทษทางวินัยกับความผิดที่เกิดขึ้น […]”

ที่มา: https://www.tcijthai.com/news/2019/12/scoop/9670