ภาคใต้ตอนล่าง: การประชุมครั้งที่11 วันที่ 31 สิงหาคม 2562 จังหวัดสงขลา

ครั้งที่ 11 การประชุมเวทีอนุภูมิภาคใต้ตอนล่าง (ภาค 9) เมื่อวันเสาร์ที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2562 ณ ห้องประชุม ปิติ ทฤษฏิคุณ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ผู้เข้าร่วม 30 คน

ผลการดำเนินงาน :

        จากการเปิดอภิปรายแลกเปลี่ยนในหัวข้อเรื่อง “ปัญหาและข้อเสนอในการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทางอาญา” ของอนุภูมิภาคใต้ตอนล่าง (ภาค 9) ทำให้ได้ข้อสรุปประเด็นจากการประชุมดังนี้

       กรณีศึกษาคดีชาวบ้านเทพาชุมนุมเกิน 5 คน ชาวบ้านจำนวน 17 คน เดินทางมาจากอำเภอเทพา จังหวัดสงขลาเพื่อต้องการเข้าพบนายกรัฐมนตรีในเวทีประชุม ครม. สัญจรจังหวัดสงขลา แต่ถูกเจ้าหน้าที่ชุดควบคุมฝูงชนครบชุด ล้อมจับโยนขึ้นรถ ใช้เข่าทับ และถูกแจ้งข้อหาชุมนุมเกิน 5 คนโดยไม่ได้รับอนุญาต พกพาอาวุธที่สาธารณะ ทำร้ายเจ้าหน้าที่ กีดขวางทางจราจร เป็นแกนนำ และไม่สามารถควบคุมฝูงชนไว้ได้ แต่สุดท้ายคดีถูกศาลยกฟ้อง และฟ้องกลับเป็นคดีความทางแพ่ง คือ 1) ตำรวจ 2) ทหาร และ 3) จังหวัด

         กรณีศึกษาคดีปากบารา เป็นโครงการสามเหลี่ยมเศรษฐกิจ ซึ่งจะสร้างท่าเรือและรถไฟรางคู่ระหว่างท่าเรือปากบารา จังหวัดสตูล และอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา แต่ชาวบ้านประมาณ 50 คน ได้เข้ายึดพื้นที่ไว้ ซึ่งเป็นคืนที่ฝนตก เพื่อต้องการให้ระงับโครงการและศึกษาความเป็นไปได้ถึงความเหมาะสม เพราะจังหวัดสตูลเป็นเมืองท่องเที่ยว สุดท้ายแล้วชาวบ้านถูกออกหมายจับดำเนินคดีข้อหาบุกรุก ปัจจุบันนี้คดีอยู่ในชั้นสอบสวน แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจยังไม่เรียกสอบปากคำเพิ่มเติม และชาวบ้านจะต้องเดินทางไปรายงานตัวทุกเดือนที่จังหวัดสตูล

สำหรับปัญหาสำคัญที่พบเจอในเขตพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง (ภาค 9) คือ

  • การบังคับใช้กฎหมาย พรก. ฉุกเฉินในเขตพื้นที่ 3 จังหวัด และ 4 อำเภอจังหวัดสงขลา (จะนะ เทพา นาทวี และสะบ้าย้อย) เจ้าหน้าที่จะทหารมีอำนาจมาก คือ เป็นผู้จับ ผู้สอบสวน และเป็นพยานเอง
  • กรณีที่ประชาชนเป็นโจทก์และมีคดีความฟ้องกลับเป็นคดีแพ่งยากมาก เพราะต้องวางเงินค่าธรรมเนียมศาล เช่น ฟ้อง 360,000 จะต้องวางค่าธรรมเนียมศาล 4,000 บาท เป็นต้น ดังนั้น หากประชาชนมีฐานะยากจนก็จะไม่สามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้เลย เพราะไม่มีเงินค่าธรรมเนียมศาล
  • กองบังคับคดีไม่ได้ติดตามทรัพย์สินของจำเลยในกรณีที่ศาลพิพากษาแล้ว ซึ่งทำให้โจทก์ไม่ได้รับเงินชดเชยตามคำสั่งของศาล เช่น ศาลพิพากษาให้ชดใช้ แต่บริษัทขายทรัพย์สินหนี เป็นต้น
  • กระบวนการยุติธรรมถูกแทรกแซง หน่วยงานราชการไม่ค่อยปกป้องสิทธิของประชาชน แต่เลือกที่จะปกป้องนายทุนใหญ่ เพราะให้ผลประโยชน์มากกว่า
  • ประชาชนไม่มีความรู้ทางกฎหมาย และไม่มีเงินเพื่อใช้ในการต่อสู้คดีความ
  • กรณีการก่อความไม่สงบในเขตพื้นที่ หากผู้กระทำความผิดเดินทางไป Job-passport ที่ประเทศมาเลเซีย เมื่อถูกจับดำเนินคดี และนำหลักฐานนี้ไปยืนยันก็จะสามารถทำให้ถูกศาลตัดสินยกฟ้องได้ ซึ่งกลายเป็นว่าผู้ที่กระทำความผิดสามารรถอยู่เหนือกฎหมายได้
  • ประชาชนไม่สามารถเข้าถึงกองทุนยุติธรรมได้ เพราะคณะกรรมการทำหน้าที่พิจารณาเสมือนศาล เช่น กรณีการชุมนุมเกิน 5 คน ก็จะถูกพิจารณาว่าเป็นการกระทำที่ขัดต่อสังคมและศีลธรรมอันดีจึงไม่อนุมัติการให้ความช่วยเหลือ เป็นต้น ข้อเสนอคือ
  • องค์ประกอบของคณะกรรมการกองทุนยุติธรรม ไม่ควรเปิดโอกาสการชี้ขาดอยู่ที่ตำรวจและอัยการเท่านั้น แต่จะต้องมีคณะกรรมการจากหน่วยงานอื่นทำหน้าที่ถ่วงดุลอำนาจซึ่งกันและกัน
  • ควรมีการปรับลดเงื่อนไขเพื่อให้โอกาสประชาชนทุกคนเข้าถึงสิทธิในกองทุนยุติธรรมในฐานะเป็นผู้ต้องหา
  • ระยะเวลาในการดำเนินการอนุมัติควรทำให้ง่าย และรวดเร็วขึ้น
  • กรณีที่ประชาชนเป็นคดีความกับรัฐ ผู้พิจารณาการให้ความช่วยเหลือในกองทุนยุติธรรมไม่ควรเป็นหน่วยงานภาครัฐ
  • ทนายความจากกองทุนยุติธรรมบางคนไม่มีความเชี่ยวชาญ และไม่น่าไว้วางใจ จึงควรให้สิทธิจำเลยสามารถเลือกใช้ทนายความได้ตามความต้องการ
  • รัฐต้องการเวนคืนพื้นที่ตำบลลำพะยา 1,000 กว่าไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่ปลูกพืชเศรษฐกิจของชาวบ้าน เช่น ทุเรียนพื้นเมือง สวนยาง ฯลฯ และเป็นพื้นที่สุสาน 100 ศพ ซึ่งทำให้ชาวบ้านได้รับผลกระทบ ไม่มีที่ดินทำกิน จึงต้องการเรียกร้องความเป็นธรรม

Gallery