การประชุมเชิงปฎิบัติการการขับเคลื่อนกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ครั้งที่10 วันที่ 17 สิงหาคม 2562 จังหวัดเชียงใหม่

ครั้งที่ 10 การประชุมเวทีอนุภูมิภาคเหนือตอนบน (ภาค 5) เมื่อวันเสาร์ที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2562 ณ โรงแรมเดอะปาร์คเชียงใหม่ ถ.ช้างคลาน ต.ช้างคลาน อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ผู้เข้าร่วม 65 คน

ผลการดำเนินงาน :

        จากการเปิดอภิปรายแลกเปลี่ยนในหัวข้อเรื่อง “ปัญหาและข้อเสนอในการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทางอาญา” ของอนุภูมิภาคเหนือตอนบน (ภาค 5) ทำให้ได้ข้อสรุปประเด็นจากการประชุมดังนี้

กรณีศึกษาข้อพิพาทที่ดินอำเภอเชียงดาว เนื่องจากกรมป่าไม้ประกาศอำเภอเชียงดาวให้เป็นเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ และให้กองทหารหน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่เช่า ซึ่งเป็นพื้นที่ทับซ้อนกับพื้นที่ทำกินมานานกว่า 100 ปีของชาวบ้าน ในปี 2553 ชาวบ้านจึงถูกดำเนินคดีบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติ จำนวน 10 ราย และศาลชั้นต้นพิจารณาปรับครอบครัวละ 5,000 บาท จากนั้นชาวบ้านได้รับความช่วยเหลือจากสภาทนายความและต่อสู้ในกระบวนการชั้นศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาจนสิ้นสุดคดีความ เมื่อปี 2561 ผลคือชาวบ้านได้ที่ทำกิน แต่ก็มีความหวาดระแวงการถูกคุกคามจากทหาร

กรณีศึกษาคดีป่าแหว่ง คือ ต้นปี 2559 พื้นที่เชิงดอยสุเทพ จังหวัดเชียงใหม่ ถูกรุกล้ำบุกรุกสร้างเป็นบ้านพักตุลาการ จำนวน 45 หลัง และถูกเผยแพร่เป็นภาพถ่ายในเพจ RAKS MAE PING เกิดการแชร์ และส่งต่อจนเป็นกระแสในโลกออนไลน์ ภาคประชาชนจำนวน 55 องค์กรได้รวมตัวกันจัดตั้ง “เครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ” ต้องการให้รื้อออกเพราะเป็นพื้นที่ป่า แต่ถูกอ้างข้อกฎหมายว่าไม่สามารถรื้อถอนได้ ซึ่งกลายเป็นคดีความระหว่างประชาชนกับศาล แต่ผู้ตัดสินคดีคือ ศาล ผลจากคดีนี้ จึงทำให้ประชาชนถูกดำเนินคดีฟ้องปิดปาก (SLAPPs) จำนวน 4 คดี ซึ่งเป็นคดีความที่จังหวัดเชียงใหม่ และที่กรุงเทพมหานคร

กรณีศึกษาคดีวิสามัญเวียงแห คือ เมื่อวันที่ 23 ก.ค. 62 เจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นชาย 4 คน ใส่เสื้อกันฝน และผ้าปิดหน้า วิสามัญชาวเขา 1 ราย เสียชีวิตในเขตพื้นที่อำเภอเวียงแห โดยตำรวจให้เหตุผลว่าเนื่องจากพบยาเสพติดและสิ่งผิดกฎหมาย (ลูกกระสุนปืน) ในกระเป๋าจึงเป็นเหตุให้ต้องวิสามัญ และในเบื้องต้นชาวบ้านที่อยู่ในเหตุการณ์ไม่เห็นพยานหลักฐานตรงกับการกล่าวอ้างของเจ้าหน้าที่ตำรวจ

กรณีศึกษาคดีชัยภูมิ ป่าแส เป็นประเด็นการวิสามัญที่พบมากในเขตพื้นที่ชายแดน แต่บางกรณีไม่เป็นข่าว ซึ่งประชาชนที่อยู่ในเขตพื้นที่จะรู้ดีว่าเป็นเรื่องปกติ และส่วนใหญ่เรื่องจะเงียบไป โดยจะถูกเชื่อมโยงให้เกี่ยวข้องกับคดียาเสพติด ปัญหาสำคัญของคดีชัยภูมิ ป่าแส ซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเขาเผ่าลาหู่ คือ ภาพจากกล้อง CCTV ที่ติดตั้งอยู่บริเวณด่านรินหลวงจำนวนถึง 9 ตัว ไม่สามารถนำเข้ากระบวนการในชั้นศาลได้ ซึ่งถูกอ้างว่ามีการอัดทับไฟล์ลงไป

กรณีศึกษาการซ้อมทรมานจนเสียชีวิต เหตุเกิดเมื่อเดือนมกราคม ปี 2557 พลทหารสมชายถูกซ้อมภายในค่ายทหาร โดยวิธีการเอาปี๊บคุมหัวและถูกตีที่หลัง ซึ่งทำให้เกิดอาการป่วย และเมื่อได้รับเชื้อจากโรคไข้หวัดนก จึงทำให้ปอดติดเชื้อขั้นรุนแรงจนเสียชีวิต และเป็นพลทหารเดียวที่เสียชีวิตจากโรคไข้หวัดนกในจำนวนพลทหารที่ติดเชื้อไข้หวัดนกทั้งหมดจำนวน 20 ราย เพราะพลทหารอื่นไม่ได้ถูกซ้อมเหมือนเช่นพลทหารสมชาย จนท้ายที่สุดศาลมีคำพิพากษายกฟ้อง ซึ่งโจทก์เป็นแม่ และกองทัพบกเป็นจำเลย โดยให้เหตุผลว่าไม่มีพยานรู้เห็นการถูกซ้อม และการตายเป็นผลโดยตรงจากการถูกซ้อม

ข้อเสนอแนะ

  • กฎหมายไทยว่าด้วยเรื่องที่ดินจะต้องพิจารณาตั้งแต่ต้นคือ ประเด็นสิทธิบุคคล สิทธิของรัฐ และสิทธิชุมชน เพราะปัญหาสำคัญคือประเทศไทยไม่ได้นำประเด็นสิทธิชุมชนมาระบุไว้ในตัวบทกฎหมาย จึงเป็นผลทำให้ประชาชนหลายคนต้องกลายเป็นจำเลยในคดีอาญา
  • คดีความเกี่ยวกับอุทยานแห่งชาติ ป่าไม้ และการคุ้มครองสัตว์ป่าเป็นผลมาจากนโยบายของรัฐบาล จึงไม่ควรถูกกำหนดเป็นโทษทางอาญา แต่ควรกำหนดเป็นโทษทางปกครอง หรือมาตรการพิเศษแทน เพื่อสร้างความเป็นธรรมให้แก่ประชาชน
  • กระบวนการรวบรวมหลักฐานจะต้องแก้ไขกฎระเบียบให้มีความรอบด้าน และครอบคลุมเพื่อป้องกันการนำเข้า-ออกพยานหลักฐาน และให้สิทธิประชาชนในการท้วงติงพยานหลักฐานได้ หรืออาจจะมีองค์กรอิสระที่ทำหน้าที่ในการรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อช่วยเหลือประชาชนให้ได้รับความยุติธรรม
  • กองทุนยุติธรรมจะต้องไม่มีอำนาจทับซ้อนโดยเฉพาะอัยการ ซึ่งเป็นผู้ที่มีบทบาทมากในฐานะเป็นคณะกรรมการพิจารณาเพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชน และกระบวนการในการอนุมัติควรมีระยะเวลาที่สั้นเพื่อให้การเข้าถึงสิทธิมีความรวดเร็วมากขึ้น รวมทั้งควรให้องค์กรภาคประชาชนสังคมเข้ามามีส่วนร่วมในการเป็นคณะกรรมการพิจารณากองทุนยุติธรรม
  • ควรปรับเปลี่ยนเงื่อนไขการพิจารณาของคณะกรรมการกองทุนยุติธรรมให้ง่ายและสะดวก เพื่อให้ประชาชนสามารถขอรับความช่วยเหลือตามสิทธิได้อย่างแท้จริง เช่น การหาข้อมูลในระดับพื้นที่เพื่อรับรองความยากจน หรือการกระทำความผิด เป็นต้น สิ่งเหล่านี้จะทำให้กระบวนการอนุมัติการให้ความช่วยเหลือประชาชนช้าลง ดังนั้น จึงไม่ควรกำหนดเกณฑ์ความยากจนเพื่อให้ทุกคนมีสิทธิในการเข้าถึงกองทุนยุติธรรม และคณะกรรมการจะต้องไม่ทำหน้าที่เสมือนศาลตัดสินคดี เพราะหากเชื่อแล้วว่ามีพฤติกรรมที่กระทำความผิดก็จะไม่ได้รับความช่วยเหลือ
  • หลักสูตรการจัดเรียนการสอนวิชากฎหมายในระดับมหาวิทยาลัย จะต้องเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้มีโอกาสไปศึกษาเรียนรู้จากสถานการณ์จริง เพื่อให้เข้าใจถึงวิถีชีวิตของมนุษย์ รวมทั้งจะต้องมีการอบรมให้ความรู้เรื่องกฎหมายแก่ประชาชน

Gallery