ครั้งที่ 9 การประชุมเวทีอนุภูมิภาคใต้ตอนบน (ภาค 8) เมื่อวันเสาร์ที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2562 โรงแรมบูกิตตา แอนด์ สปา จังหวัดภูเก็ต ผู้เข้าร่วม 46 คน
ผลการดำเนินงาน :
จากการเปิดอภิปรายแลกเปลี่ยนในหัวข้อเรื่อง “ปัญหาและข้อเสนอในการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทางอาญา” ของอนุภูมิภาคใต้ตอนบน (ภาค 8) ทำให้ได้ข้อสรุปประเด็นจากการประชุมดังนี้
1) คดีความเกี่ยวกับป่าไม้ อุทยานแห่งชาติ หรือทรัพยากรควรเปลี่ยนจากโทษทางอาญาเป็นโทษทางปกครองแทน เพื่อช่วยทำให้สังคมอยู่กันอย่างมีความสุข และประชาชนได้รับโทษตามความเหมาะสม
2) ประชาชนไม่สามารถเข้าถึงกองทุนยุติธรรมได้จริง ซึ่งมาจากปัญหาและข้อจำกัดต่างๆ เช่น
– แนวคิดของคณะอนุกรรมการกองทุนฯ ซึ่งเป็นบุคคลที่มาจากอดีตข้าราชการของกระบวนการยุติธรรม เช่น ตำรวจ อัยการ ฯลฯ ก็จะมีแนวคิดเดียวกันและเป็นแนวคิดเดิม จึงต้องปรับปรุงองค์ประกอบของอนุกรรมการ
– การทำหน้าที่ของคณะอนุกรรมการกองทุนฯ เสมือนเป็นผู้ตัดสินแทนศาล ดังนั้น หากพิจารณาแล้วเห็นว่าบุคคลใดที่มีแนวโน้มว่ากระทำความผิด หรือกระทำคดีความที่ร้ายแรงก็จะเห็นพ้องกันว่าไม่ควรนำเงินของรัฐไปใช้ หรือนำเงินของรัฐไปสู้กับรัฐ
– ประชาชนที่จะขอรับความช่วยเหลือจากกองทุนยุติธรรมจะต้องติดคุก
– กระบวนการในการใช้สิทธิประกันตัวประชาชนมีความล่าช้าและหลายขั้นตอน
– กรณีที่บุคคลใดเคยถูกดำเนินคดี หรือถูกศาลยกฟ้องว่า “ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย” และไม่สามารถพิสูจน์ให้ศาลเห็นว่า “สิ้นสงสัย” แล้ว ก็จะไม่สามารถเข้าถึงกองทุนยุติธรรมได้ ดังนั้น จึงควรแก้ไขระเบียบให้เป็นเพียงว่า “ศาลยกฟ้อง”
– ทนายความที่ขึ้นทะเบียนกับกองทุนยุติธรรมบางคนมีผลประโยชน์ทับซ้อนกับคู่ความของประชาชน และพยายามไกล่เกลี่ยให้ประชาชนยอมความมากกว่าการให้ความช่วยเหลือเพื่อต่อสู้ให้ได้รับความยุติธรรม จึงควรให้สิทธิประชาชนในการเลือกทนายได้เองตามความไว้วางใจ โดยจะต้องเปิดโอกาสให้ทนายความที่ขึ้นทะเบียนกับกองทุนยุติธรรมสามารถว่าความได้ทั่วราชอาณาจักรไทย
สิ่งเหล่านี้เป็นผลทำให้ประชาชนจึงไม่ได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนยุติธรรมอย่างแท้จริง ซึ่งขัดต่อเจตนารมณ์หลักของการจัดตั้งกองทุนยุติธรรมที่ต้องการช่วยเหลือประชาชน และที่สำคัญหากประชาชนต้องการอุทธรณ์ ก็ยังคงเป็นคณะกรรมการชุดเดิมที่ทำหน้าที่เป็นผู้พิจารณา ดังนั้นจึงต้องปฏิรูปให้กองทุนยุติธรรมสามารถให้ความช่วยเหลือประชาชนได้อย่างแท้จริงทั้งคดีแพ่งและอาญาตามที่ประชาชนร้องขอ
3) การทำหน้าที่ของตำรวจซึ่งเป็นต้นทางของการนำไปสู่ความยุติธรรม บางคนเลือกปฏิบัติในการดำเนินคดี เช่น กรณีที่ดินน้ำแดง สิ่งที่เกิดขึ้น คือ เมื่อประชาชนต้องการลงบันทึกประจำวันพนักงานสอบสวนเลือกที่จะไม่รับ แต่หากเป็นนายทุนใหญ่จะรีบปฏิบัติการให้ทันที เป็นต้น
4) ปฏิรูปกระบวนการได้มาซึ่งอัยการและผู้พิพากษา คือ จะต้องมีมิติความรู้ด้านอื่นๆ ด้วย เช่น ด้านสังคมศาสตร์ ประวัติศาสตร์ เป็นต้น ซึ่งในต่างประเทศจะต้องเรียนปริญญาอื่นมาก่อนที่จะมาเรียนปริญญาด้านกฎหมายเป็นใบที่สอง หรือจะต้องเป็นบุคคลที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป และมีประสบการณ์ด้านการทำคดีความ เพื่อส่งเสริมให้เป็นผู้ที่มีวุฒิภาวะ และการพิจารณาคดีมีความยุติธรรมมากขึ้น
5) ปัญหาการพิจารณาคดีของอัยการและผู้พิพากษา คือ การยึดติดกับคำพิพากษาฎีกาเดิม เช่น บางคดีความพิพากษาตั้งแต่ปี 2495 – 2497 เพราะปัจจุบันบริบททางสังคมเปลี่ยนแปลงไปแล้ว ซึ่งหากพิจารณาตามคำพิพากษาเดิม ประชาชนก็อาจจะไม่ได้รับความยุติธรรมได้ เป็นต้น และการเลือกพิจารณาเฉพาะเอกสารเท่านั้น ไม่มีการลงพื้นที่เพื่อดูข้อเท็จจริงด้วยตัวเอง และตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างละเอียด จึงจะทำให้หลายๆ คดี ทั้งโจทก์และจำเลยไมได้รับความยุติธรรมเท่าที่ควร มีการจับแพะ หรือพิจารณาโทษในบางคดีที่สูงมากจนเกินไป
6) กรณีข้อพิพาทเรื่องที่ดิน การไกล่เกลี่ยของเจ้าหน้าที่ตำรวจ อัยการ และผู้พิพากษาเพื่อให้ประชาชนยอมรับผิด โดยให้เหตุผลว่า “โทษหนักจะได้เป็นเบา” ทำให้ประชาชนไม่ได้รับความยุติธรรม เพราะนอกจากจะถูกยึดที่ดินทำกินแล้ว ยังมีโทษทางอาญาติดตัวด้วย
สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) Union for Civil Liberty (UCL.)