การประชุมเชิงปฎิบัติการการขับเคลื่อนกระบวนการยุติธรรมทางอาญา อนุภูมิภาคกลาง ตะวันออก และตะวันตก ครั้งที่ 8 วันที่ 24 กรกฎาคม 2562 จังหวัดกรุงเทพฯ

ครั้งที่ 8 การประชุมเวทีอนุภูมิภาคกลาง (ภาค 1) และตะวันออก (ภาค 2) เมื่อวันพุธที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2562 ณ โรงแรมพาลาสโซ เขตห้วยขวาง กรุงเทพฯ ผู้เข้าร่วม 30 คน

ผลการดำเนินงาน :

        จากการเปิดอภิปรายแลกเปลี่ยนในหัวข้อเรื่อง “ปัญหาและข้อเสนอในการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทางอาญา” ของอนุภูมิภาคกลาง (ภาค 1) และตะวันออก (ภาค 2) ทำให้ได้ข้อสรุปประเด็นจากการประชุมดังนี้

1) การโต้แย้งเรื่องสิทธิในที่ดินหรือการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ ปัญหาสำคัญในการต่อสู้คดีในชั้นศาล คือ การรวบรวมพยานหลักฐานโดยอ้างเรื่องสิทธิชุมชนมักจะไม่ประสบผลสำเร็จ เพราะกระบวนการรวบรวมพยานหลักฐานไม่มีความสมบูรณ์ และมุมคิดของผู้พิพากษามักไม่ฟังเหตุผลนี้ เพราะไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องสิทธิชุมชน

2) ประชาชนมักถูกฟ้องปิดปาก (SLAPPs) จากรัฐหรือนายทุนใหญ่ เพื่อลดปัญหาการถูกประชาชนเป็นโจทก์ฟ้องร้อง เพราะมองว่าเป็นบุคคลที่ไม่มีศักยภาพในการดำเนินคดี และไม่มีทุนในการต่อสู้คดีความ

3) ประชาชนเข้าไม่ถึงความช่วยเหลือจากกองทุนยุติธรรมอย่างแท้จริง เพราะคณะกรรมการจะทำหน้าที่ตัดสินเสมือนเป็นศาลพิจารณาคดีความก่อนอนุมัติเงินเพื่อช่วยเหลือประชาชน ดังนั้น หากบุคคลใดมีแนวโน้มว่าเป็นบุคคลที่กระทำความผิดก็จะถูกตัดสิทธิความช่วยเหลือในทันที

4) ปัญหาการใช้กฎอัยการศึก และ พรก.ฉุกเฉิน ของประเทศไทย ทำให้เจ้าหน้าที่ทหารมีอำนาจมาก สามารถากระทำการใดๆ ก็ได้โดยไม่จำเป็นต้องมีหมายศาล ซึ่งก่อให้เกิดความสงสัยแก่ประชาชนในหลายคดีที่เป็นการวิสามัญฆาตกรรม หรือการมีบุคคลสูญหาย เช่น การไต่สวนความตายในบางคดี พนักงานอัยการไม่นำพยานหลักฐานเข้าสู่ชั้นศาลทั้งหมด เป็นต้น

5) บุคคลที่จะเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม จะต้องมีทัศนคติที่เป็นกลางและมีความยุติธรรมมากกว่าการให้ความสำคัญกับการมีอาชีพที่มั่นคง มีฐานะตำแหน่งการงานที่ดี และมีเกียรติ

6) บุคคลที่เป็นต่างชาติไม่สามารถเข้าถึงความยุติธรรมได้ ปัญหาสำคัญคือ การใช้ พรบ.คนเข้าเมือง มาตรา 53 มาบังคับเพื่อให้รับสารภาพ โดยมองว่าเป็นพฤติการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประเทศ จึงทำให้ต้องถูกควบคุมตัวอยู่ในสถานกักกั้น ซึ่งมีสภาพที่เลวร้ายกว่าเรือนจำ และไม่มีสิทธิได้คุยกับทนายความ ไม่มีสิทธิที่จะประกันตัว แม้จะเป็นเพียงแค่บุคคลผู้ต้องสงสัยก็ตาม รวมทั้งปัญหาเรื่องการไม่มีล่าม

7) พนักงานอัยการควรมีส่วนร่วมในการทำสำนวนสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานร่วมกับพนักงานตำรวจ และควรมีพยานหลักฐานที่แน่นหนาก่อนที่จะตัดสินสั่งฟ้องคดี เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการยกฟ้อง ตัวอย่างกรณี ทหารร่วมกันฆ่าเด็กหญิงชาวเมียนมาร์ ซึ่งจำเลยให้การรับสารภาพทั้งหมดในชั้นตำรวจและศาลชั้นต้นเชื่อในคำรับสารภาพและพยานหลักฐานจึงพิพากษาลงโทษ แต่เมื่อนำสืบพยานเข้าสู่ศาลชั้นอุทธรณ์ จำเลยพิสูจน์ได้ว่าถูกทำร้ายในชั้นตำรวจ และมีร่องรอยหลักฐาน ศาลอุทธรณ์จึงพิพากษากลับยกฟ้อง

8) ในบางคดี ตำรวจสมคบคิดกับทนายความ โดยติดต่อหาทนายความมาเอง เพื่อต้องการให้เซ็นเอกสารประกอบคำรับสารภาพของผู้ต้องหาให้ครบตามกระบวนการสอบสวน และใช้เป็นพยานหลักฐานเพื่อนำเข้าสู่ชั้นศาลประกอบการพิจารณา

Gallery