ภาคเหนือตอนบน: ประชุมครั้งที่ 6 วันที่ 29 มิถุนายน 2562 จังหวัดเชียงใหม่

ครั้งที่ 6 อนุภูมิภาคเหนือตอนบน (ภาค 5) เมื่อวันเสาร์ที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2562 ณ โรงแรมเดอะปาร์คเชียงใหม่ ถ.ช้างคลาน ต.ช้างคลาน อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ผู้เข้าร่วม 34 คน

ผลการดำเนินงาน :

        จากการเปิดอภิปรายแลกเปลี่ยนในหัวข้อเรื่อง “ปัญหาและข้อเสนอในการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทางอาญา” ของอนุภูมิภาคเหนือตอนบน (ภาค 5) ทำให้ได้ข้อสรุปประเด็นจากการประชุมดังนี้

        กรณีศึกษาคดีป่าแหว่ง คือ ต้นปี 2559 มีภาพถ่ายที่รุกล้ำเชิงดอยสุเทพ และถูกเผยแพร่ในเพจ RAKS MAE PING เกิดการแชร์ และส่งต่อจนเป็นกระแสในโลกออนไลน์ จนกระทั่งเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2561 ภาคประชาชนจำนวน 55 องค์กรได้รวมตัวกันจัดตั้ง “เครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ” โดยมีนายธีระศักดิ์ เป็นผู้ประสานงานเครือข่ายฯ และเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2561 มีป้ายปริศนาเปิดเผยรายชื่อ 5 ผู้พิพากษา ที่พักอาศัยในอาคารชุด 9 หลัง บริเวณประตูท่าแพ และประตูช้างเผือก จึงเป็นเหตุทำให้นายธีระศักดิ์ฯ และนายเรืองยศฯ ช่างรับทำป้าย ถูกดำเนินคดีในข้อหาหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา  และปัจจุบันคดีอยู่ระหว่างการยื่นหนังสือถึงประธานศาลฎีกาเพื่อขอความเป็นธรรม

ข้อเสนอแนะ

1) กรณีที่คู่ขัดแย้งเป็นระหว่างรัฐกับประชาชนจะต้องมีกระบวนการยุติธรรมแบบพิเศษในการพิจารณาให้ความเป็นธรรม เพราะบุคคลที่ลุกขึ้นมาต่อสู้ก็เพื่อต้องการปกป้องสิทธิชุมชน

2) กระบวนการยุติธรรมจะต้องมีการทบทวนระบบและกลไกการทำงาน โดยคำนึงถึงความชอบธรรมทางกฎหมายที่ประชาชนจะต้องได้รับมากกว่าการคำนึงถึงความถูกต้องตามกฎหมายเพียงอย่างเดียวเท่านั้น

กรณีศึกษาคดีชัยภูมิ ป่าแส ซึ่งเป็นเยาวชนกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเขาเผ่าลาหู่ ถูกวิสามัญโดยเจ้าหน้าที่ทหารที่บริเวณด่านรินหลวง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งอ้างว่าชัยภูมิ ซุกซ่อนยาเสพติดไว้ในหม้อน้ำรถยนต์และแสดงอาการขัดขืนขณะถูกจับกุม พร้อมกับพยายามจะขว้างระเบิดใส่เจ้าหน้าที่ทหาร จึงเป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ทหารต้องป้องกันตัวเป็นเหตุให้ชัยภูมิถึงแก่ความตาย และเมื่อคดีเข้าสู่ชั้นศาล หลักฐานข้อเท็จจริงหลายอย่างไม่ถูกนำเข้าไปใช้เพื่อพิจารณา โดยเฉพาะภาพจากกล้อง CCTV ที่ติดตั้งอยู่บริเวณด่านรินหลวงจำนวนถึง 9 ตัว

ข้อเสนอแนะ

1) คดีความระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐและประชาชน ผู้พิพากษาควรเป็นระดับอาวุโส เพราะในการพิจารณาคดีจะต้องใช้ประสบการณ์และความกล้าในการเรียกหลักฐานที่เป็นข้อเท็จจริงอย่างรอบด้าน เพื่อประกอบการพิจารณาคดีให้เกิดความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย

2) กรณีที่ประชาชนเป็นคดีความกับเจ้าหน้าที่ทหาร ควรถูกพิจารณาคดีในศาลยุติธรรมมากกว่าศาลทหาร เพราะไม่ใช่เรื่องผิดระเบียบหรือกฎหมายทางวินัยของทหาร แต่เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความเดือดร้อนของประชาชน

        การเข้าถึงกองทุนยุติธรรม ต้องสามารถทำให้เกิดความเป็นธรรมแก่ประชาชนได้ ไม่ใช่แค่ให้เงินเพื่อการเยียวยาเท่านั้น และต้องปรับเงื่อนไขหลักเกณฑ์ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ง่าย ที่สำคัญคือกรรมการพิจารณาเงินกองทุนฯ ต้องไม่ควรคาดเดาว่ามีความผิดหรือไม่ เพราะจะส่งผลต่อดุลพินิจในการให้ความช่วยเหลือประชาชนที่จะมองว่า ‘ไม่ควรให้ความช่วยเหลือคนผิด’ ทั้งที่เป็นสิทธิสุจริตที่ประชาชนจะต้องได้รับ