ภาคอีสานตอนบน: ประชุมครั้งที่ 5 วันที่ 18 พฤษภาคม 2562 วันที่ 25 มิถุนายน 2562 จังหวัดมหาสารคาม

ครั้งที่ 5     การประชุมเวทีอนุภูมิภาคอีสานเหนือ (ภาค 4) เมื่อวันอังคารที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2562 ณ ห้อง D201 วิทยาลัยการเมืองปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ผู้เข้าร่วม 94 คน

ผลการดำเนินงาน :

        จากการเปิดอภิปรายแลกเปลี่ยนในหัวข้อเรื่อง “ปัญหาและข้อเสนอในการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทางอาญา” ของอนุภูมิภาคอีสานเหนือ (ภาค 4) ทำให้ได้ข้อสรุปประเด็นจากการประชุมดังนี้

         สถานการณ์ความรุนแรงของ SLAPP Case ในเขตพื้นที่อนุภูมิภาคอีสานเหนือ คือ พรบ. ชุมนุมสาธารณะ จะถูกนำมาใช้ในการฟ้อง SLAPP Case มากที่สุด รวมทั้งคดีหมิ่นประมาทที่จะมาควบกับ พรบ.คอมพิวเตอร์ และการข่มขืนใจ ตัวอย่างเช่น คดีเหมืองทองเมืองเลย ซึ่งชาวบ้านที่ถูกฟ้องจะต้องเดินทางไปขึ้นศาลที่แม่สอด จังหวัดตาก ทั้งๆ ที่ชาวบ้านเป็นผู้ได้รับความเสียหายจากการทำเหมืองทองแต่กลับถูกฟ้อง SLAPP Case ดังนั้น การใช้กฎหมายในลักษณะนี้จึงเป็นการลิดรอนสิทธิเพื่อปิดปากชาวบ้าน

ข้อเสนอแนะ

1)  การดำเนินการโครงการใดๆ ในพื้นที่ชุมชน จะต้องเปิดโอกาสให้ชาวบ้านในพื้นที่มีส่วนร่วมรับรู้และร่วมตัดสินใจ เพื่อปกป้องสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นทรัพย์สินของส่วนรวม

2)  ต้องแก้ไข พรบ.ชุมนุมสาธารณะ ไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการเคลื่อนไหวของชาวบ้านที่จะแสดงออกโดยเสรีภาพหรือเรียกร้องสิทธิเพื่อประโยชน์ส่วนรวม

สถานการณ์ความรุนแรงคดีป่าไม้ที่ดิน (กรณีอุทยานไทรทอง) คือ ชาวบ้านถูกฟ้องเป็นผู้ต้องหา โดยเหตุเกิดจากการทวงพื้นที่ผืนป่า จึงต้องรวมตัวกันเรียกร้องต่อสู้เพื่อความยุติธรรมในสิทธิพื้นที่ทำกิน

ข้อเสนอแนะ

1) ควรแก้ไขเงื่อนไขการเข้าถึงกองทุนยุติธรรม โดยเฉพาะประเด็นที่ระบุว่า ‘ผู้ต้องหาต้องติดคุกก่อนจึงจะได้รับการสนับสนุน’ และต้องทำให้ระบบการเข้าถึงกองทุนยุติธรรมสามารถเข้าถึงได้ง่าย ไม่ยุ่งยากซับซ้อน เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนมากที่สุด

2) การใช้เงินกองทุนยุติธรรมเพื่อจ้างทนายความควรเปิดกว้างให้ประชาชนสามารถเลือกทนายที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเรื่องสิทธิมนุษยชนได้เอง โดยไม่จำกัดเฉพาะที่มีชื่ออยู่ในกองทุนยุติธรรม

3) ก่อนการพิจารณาในชั้นศาล ต้องมีการเก็บรวบรวมพยานหลักฐานซึ่งเป็นข้อเท็จจริงอย่างรอบด้าน ไม่เพียงแต่เฉพาะข้อมูลที่มาจากหน่วยงานของภาครัฐเท่านั้น

4) โทษจำคุกซึ่งเป็นหลักเดือนไม่ควรถูกกำหนดเป็นโทษทางอาญา แต่ควรปรับเปลี่ยนโดยใช้มาตรการอื่นมาควบคุมแทน หรือสามารถขอใช้สิทธิในการลดหย่อนโทษหรือการพักโทษได้